"อาคม" แจง พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน เหลือไม่พอแก้โควิด

09 มิ.ย. 2564 | 13:57 น.

“อาคม” แจง พ.ร.ก.กู้เงินแก้โควิด 5 แสนล้าน เป็นทางเลือกสุดท้าย เหตุเงินกู้ พ.ร.ก 1 ลลบ. เหลือไม่พอ ไม่มีงบหน่วยงานให้โยก และรอแหล่งเงินจากงบปี 65 ไม่ได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ระบาดไปทั่วโลกรวมทั้งไทย และยังไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดได้ ขณะที่การออก พ.ร.ก.กู้เงิน โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ในปี 2563 นั้น ณ วันที่ 1 มิ.ย. 64 ครม. ได้อนุมัติโครงการใช้จ่ายวงเงินกู้ไปแล้ว 298 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 980,828 ล้านบาท คงเหลือวงเงินกู้เพียง 1,764 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในระยะต่อไปได้

ขณะที่การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2546 เนื่องจากสำนักงบฯ ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับหน่วยงานรัฐตามแผนการใช้จ่ายจริงแต่ละไตรมาส จึงทำให้ไม่มีวงเงินเหลือสำหรับการโอนงบประมาณได้ และเงินทุนสำรองจ่ายที่เหลืออยู่ก็ไม่เพียงพอ ส่วนการจัดทำงบรายจ่ายเพิ่มเติมปี 64 รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ปี 64 มีข้อจำกัดและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด และหากรอแหล่งเงินจากงบประมาณปี 65 จะไม่ทันต่อการแก้ปัญหาในระลอกใหม่ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน ในการแก้ไขสถานการณ์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งถือเป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วน และเป็นทางเลือกสุดท้ายในการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้  

สำหรับการกู้เงินตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 298 โครงการ แบ่งเป็นด้านการแพทย์ 46 โครงการ วงเงินรวม 44,479 ล้านบาท ด้านการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน เกษตรกร ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ โดยอนุมัติไปแล้ว 15 วงเงินรวม 690,136 ล้านบาท และ ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 237 โครงการ วงเงินรวม 246,213 ล้านบาท และยังอยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินเงินกู้ อีกประมาณ 17,408 ล้านบาท 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

คลัง แจงสภาฯ จำเป็นต้องออก พรก.กู้เงิน 5 แสนล้าน  

ดัน‘โค-เปย์’อุ้มSME ส.อ.ท.ชงปันเงินกู้ 5 แสนล้าน ช่วยจ่ายค่าจ้างคนละครึ่ง 6-9เดือน