พิษโควิดทุบ ‘ร้านอาหาร’ นับแสนปิดกิจการ

30 พ.ค. 2564 | 01:00 น.

ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องทุกวัน ส่งสัญญาณว่าประเทศไทยยังต้องเผชิญกับวิกฤติ ​​​​​​​“โควิด-19” ต่อไป ขณะที่หลายธุรกิจเริ่มแบกรับภาระไม่ไหว และต้องทยอยปิดกิจการไป รวมถึงธุรกิจร้านอาหาร

 

หากมองย้อนกลับไปในปี 2562 แม้ไม่ใช่ช่วงเฟื่องฟูของเศรษฐกิจ แต่ธุรกิจร้านอาหารที่มีอยู่กว่า 4.2 แสนร้าน ก็ยังคงเดินหน้าเปิดให้บริการได้อย่างเต็มที่ แต่การมาของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยพบว่าในปี 2563 มีร้านอาหารกว่า 6 หมื่นร้านที่ต้องปิดกิจการ เพราะแบกรับภาระไม่ไหว

หนึ่งในเสียงสะท้อนที่สปอตไลท์จับจ้องคือ “สตีฟ-สรเทพ โรจน์พจนารัช” ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งสตรีท ฟู้ด, Fine Dining ฯลฯ ซึ่งชั่วโมงนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นธุรกิจที่ทุกข์ทรมานจากโควิด-19 ไม่แพ้ธุรกิจบริการอื่นๆ

สตีฟ-สรเทฟ โรจน์พจนารัช

“สตีฟ” เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการออกมาทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 ครั้ง 2 คราว และหากยังไม่มีเสียงตอบรับ ไร้การเหลียวแล ก็จะเดินหน้าต่อไปอีก

4.2 แสนร้านอาหารสาหัส

“สตีฟ” บอกว่า โควิดรอบ 3 นี้หนักจริงๆ เงินกู้ยังอยู่ หนี้ยังอยู่ แต่รายได้ไม่อยู่ ทุกคนกระสุนหมด รัฐไม่ล็อกดาวน์แต่ก็เหมือนปิดเมือง ผู้คนไม่กล้าใช้จ่าย ร้านอาหารปิดทั้งสตรีทฟู้ด Fine Dining จากที่ปิดชั่วคราว ก็ทยอยปิดกิจการแบบถาวรหรือเจ๊ง เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร รัฐบาลไม่เคยออกมาบอกว่ามาตรการ 1 2 3 4 คืออะไร ทำให้ผู้ประกอบการไม่มีความมั่นใจ ตัดใจยอมขาดทุน ปิดกิจการก่อน ภาพรวมธุรกิจร้านอาหาร

การส่งสารถึงนายกฯ เพราะต้องการให้หันมามองเราบ้าง ธุรกิจร้านอาหารเป็นกลุ่ม SMEs ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ภาคธุรกิจร้านอาหารในปี 2562 ซึ่งมีอยู่กว่า 4.2 แสนร้าน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ยังเป็นห่วงโซ่ซัพพลายในหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ภาคการผลิต และภาคแรงงานอีกกว่า 5 แสนคน แต่รัฐบาลไม่เคยเหลียวแล

“เมื่อเกิดเรื่องร้านอาหารถูกสั่งปิดก่อนและไม่ได้รับการเยียวยา แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ไม่ว่าจะเป็นคนละครึ่ง ม.33 เรารักกันฯลฯ แต่ก็ไม่ได้ถูกดึงเข้าร่วมด้วยเพราะเป็นนิติบุคคล วันนี้แม้ผ่อนปรนให้สามารถนั่งรับประทานอาหารได้ 25% แต่เมื่อเปิดร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงยังต้องจ่ายเต็ม แต่มีรายได้กลับเข้ามาแค่ 25% ใครจะแบกรับไหว”

รัฐบาลต้องคิดแบบ 360 องศา

วันนี้สิ่งที่ชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารเรียกร้อง ไม่ได้ใช้งบประมาณที่มหาศาล บางมาตรการเพียงขอให้ผ่อนปรน ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกฯ สามารถสั่งการได้เลย เพราะสิ่งที่ผู้ประกอบการเผชิญวันนี้ แม้ภาครัฐ เช่น ประกันสังคม บอกว่าเยียวยาด้วยการช่วยค่าแรง 50% ในช่วงที่ร้านค้าปิด (1-16 พ.ค.) แต่เมื่อมาตรการขยายออกไปหรือผ่อนปรนให้ ก็นั่งได้แค่ 25% ขณะที่ผู้คนยังหวาดกลัว ไม่มาใช้บริการในร้าน ร้านยังไม่กลับเข้ามา แต่ร้านก็ต้องจ่ายค่าแรงเต็ม ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุน ที่ทุกวันนี้ผู้ประกอบการแบกรับไว้หนักมาก พิษโควิดทุบ ‘ร้านอาหาร’  นับแสนปิดกิจการ

พิษโควิดทุบ ‘ร้านอาหาร’  นับแสนปิดกิจการ

 

 

 

 

 

 

“อยากให้รัฐบาลคิดแบบ 360 องศา มีการบริหารจัดการภาวะวิกฤติ (Crisis Management) ที่ดีกว่านี้ เป็นมืออาชีพ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินเยียวยา เพราะหากสถานการณ์การติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้น และรัฐบาลยังเอาไม่อยู่ จนการติดเชื้อลากยาวไปจนถึงเดือนตุลาคม เชื่อว่าจะมีร้านอาหารทยอยปิดกิจการไปอีกกว่า 4 หมื่นร้าน จากในช่วงต้นปีจนถึงเดือนเมษายนที่ปิดไปแล้วกว่า 2 หมื่นร้าน ซึ่งหากนับจากตั้งแต่เกิดการระบาดโควิดในประเทศไทยจะเห็นว่า ธุรกิจร้านอาหารทยอยปิดกิจการไปแล้วต่อเนื่อง และปีนี้หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นคาดว่าร้านอาหารจะปิดกิจการไปราว 1.2 แสนร้านหรือ 30-40% จากปี 2562”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  

 

 

สุดท้าย “สตีฟ” ฝากว่า 5 มาตรการที่ร้องขอรัฐไป เป็นแค่การประคองธุรกิจให้ไม่เจ๊ง เป็นเหมือนออกซิเจนที่ช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการ ยังมีอีกหลายปัญหาที่ยังไม่มีการแก้ไข เช่น บริการดีลิเวอรี ที่ผลักดันให้เกิดเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับร้านอาหาร แต่การคิดค่าจีพี 30-35% กลายมาเป็นต้นทุนให้กับร้านอาหาร

“หากมองในภาคประชาชน รัฐบาลยังติดลบเรื่องของการบริหารจัดการโควิด-19 ผิดหวังกับการบริหารวัคซีนที่ล่าช้า ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง”

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564