ค้าปลีก-เเบงก์ ทะลวงซอฟต์โลน อุ้มลูกค้าพบนายธนาคาร ตั้งเป้าแสนราย 7.5 หมื่นล้าน

30 พ.ค. 2564 | 00:00 น.

สมาคมค้าปลีกไทยผนึก 5 แบงก์ยักษ์ จ่อปล่อยกู้ซอฟต์โลน 7.5 หมื่นล้าน อุ้ม Micro SMEs กว่า 1 แสนราย หวังเพิ่มสภาพคล่อง ต่อลมหายใจฝ่าวิกฤติโควิด ก่อนจับมือ 3 สมาคมใหญ่เปิดเฟส 3 รับรายย่อยทั่วประเทศ “สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย” ลุ้นขยายฐานสู่ Small SMEs เพิ่มวงเงินกู้ 5-10 ล้าน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ SMEs ไทยที่มีมากกว่า 3.1 ล้านราย แม้ภาครัฐจะออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าหรือ Soft Loan เพื่อมาเพิ่มสภาพคล่อง พยุงธุรกิจแต่พบว่ามี SMEs ที่เข้าถึงซอฟต์โลนเพียง 8 หมื่นราย อีกกว่า 2 ล้านรายที่เป็นรายย่อยและรายย่อมกลายเป็นผู้ตกหล่น  เพราะมีเม็ดเงินหมุนเวียนตํ่า ขาดความน่าเชื่อถือและมีความเสี่ยง NPL สูง

 

จ่อปล่อยกู้เพิ่มแสนราย

การอนุมัติ Soft Loan ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยริเริ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือ Micro SMEs ผ่านโครงการแซนด์บ็อกซ์ ที่เซ็นทรัล รีเทล (CRC) ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คัดเลือกซัพพลายเออร์ คู่ค้ากว่า 4,000 ราย ที่ต้องการ Soft Loan ซึ่งแม้กลุ่มนี้จะมีรายได้น้อย แต่มีประวัติการซื้อขายที่นำมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้ และพบว่าภายในระยะเวลาเดือนเศษ ได้รับการอนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรกกว่า 1,000 ราย รวมวงเงิน 5,000 ล้านบาท ถือเป็นการเพิ่มสภาพคล่องและสร้างโอกาสให้กับ SMEs ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน Soft Loan ได้สำเร็จ

การดำเนินการในเฟสที่ 2 จึงเกิดขึ้นทันที โดยนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ในเฟส 2 นี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 70 บริษัท ซึ่งมีผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่การค้ามากกว่า 1 แสนรายหรือ 40% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกทั้งประเทศ คิดเป็น 12% ของ GDP โดยร่วมมือกับ 5 ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ไทยพาณิชย์, กรุงเทพ, กรุงไทยและออมสิน เพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Soft Loan) ผ่าน Digital Factoring Platform โดยสมาคมเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย

“ภาคีและพันธมิตรทุกภาคส่วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ SMEs ไทยต้องรอด จึงมุ่งไปที่การช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างง่ายและทั่วถึง และสามารถก้าวพ้นวิกฤติโควิดในครั้งนี้ไปได้ด้วยกันโดยเร็วที่สุด”

 

วงเงินทะลุ 7.5 หมื่นล.

ทั้งนี้เบื้องต้นคาดว่า SMEs กว่า 1 แสนรายนี้จะได้รับการพิจารณาตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เข้าถึง Soft Loan ได้ราว 25% มีวงเงินรวมกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท ส่วน SMEs ที่ไม่เข้าเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อ Soft Loan ธนาคารพาณิชย์จะนำเสนอสินเชื่อประเภท Clean loan หรือ Term Loan ที่มีดอกเบี้ยตํ่าใกล้เคียงกับ Soft Loan แทน นอกจากนี้หากไม่เข้าเงื่อนไขทั้ง Soft Loan และ Term Loan ก็จะได้รับการพิจารณาสินเชื่อ Foctoring โดยใช้คำสั่งซื้อและใบแจ้งหนี้จากผู้ประกอบการค้าปลีกเป็นหลักประกันแทน

 

ผนึก3สมาคมเดินหน้าเฟส3

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังการจัดทำแซนด์บ็อกซ์ ทำให้รู้ว่าผู้ประกอบการ Micro SMEs ที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลนได้ โดยกลุ่มนี้จะได้สินเชื่อในวงเงิน 1-3 ล้านบาทต่อราย เพื่อนำไปใช้จ่ายหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง ส่วนในเฟส 2 จะขยายไปยังห้างค้าปลีกในต่างจังหวัด เพื่อเปิดรับซัพพลายเออร์ คู่ค้า ทั้งในกลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิต รวมถึงร้านค้าย่อยทั่วประเทศ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนซอฟต์โลนง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามแผนงานต่อไปคือการเดินหน้าเฟส 3 โดยจะขยายผลไปถึงสมาชิกของสมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมภัตตาคารไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนภาคเอกชน พร้อมร่วมมือกันเต็มที่

สำหรับเงื่อนไขสินเชื่อซอฟต์โลนเพื่อฟื้นฟูสภาพคล่องตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คํ้าประกันเต็มวงเงินและกำหนดอัตราดอกเบี้นไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก มีระยะการผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี และสามารถพักชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน และยังได้รับการยกเว้นเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก นับตั้งแต่วันเบิกเงินกู้งวดแรก


ค้าปลีก-เเบงก์ ทะลวงซอฟต์โลน อุ้มลูกค้าพบนายธนาคาร ตั้งเป้าแสนราย 7.5 หมื่นล้าน

แนะขยายวงเงินกู้เพิ่ม

ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธาน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สมาพันธ์พร้อมเข้าร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนได้ เพราะที่ผ่านมา SMEs กว่า 50% ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าได้ ปัญหาด้านสภาพคล่องจึงเข้าขั้นโคม่า อย่างไรก็ดีการที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เดินหน้าดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังจนสำเร็จในเฟสแรก ถือเป็นต้นแบบที่ดี และอยากให้มีสมาคมหรือองค์กรอื่นที่จัดทำขึ้นบ้าง

เพราะยังมี SMEs ในภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านโชห่วย ร้านค้าต่างๆอีกกว่า 5 แสนราย ร้านอาหารอีกกว่า 2 แสนร้าน รวมกว่า 7 แสนร้านค้าที่ยังต้องการซอฟต์โลน ที่จะมาช่วยเพิ่มสภาพคล่อง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติิโควิดเช่นนี้

นอกจากนี้เรื่องของซอฟต์โลนแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs เองยังต้องการให้บริษัทใหญ่ ช่วยเรื่องของการเครดิตเทอม การชำระค่าสินค้าและบริการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ควรเกิน 30 วันนับจากวันส่งมอบสินค้าเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนใช้จ่าย

อย่างไรก็ดีนอกจากกลุ่ม Micro SMEs แล้ว อยากให้มองถึงกลุ่ม Small SMEs ด้วย ซึ่งกลุ่มนี้ก็ยังเผชิญกับปัญหาการเข้าไม่ถึงซอฟต์โลนเช่นกัน ดังนั้นในอนาคตอยากให้ขยายกลุ่มและเพิ่มวงเงินกู้ในระดับ 5-10 ล้านบาทด้วย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564