ธอส.ลุย “บ้านล้านหลัง” เฟส 2 ผ่อน 5,000 นาน 7 ปี

05 เม.ย. 2564 | 10:50 น.

ธอส.เข็น“บ้านล้านหลัง”เฟส2 ต่อทันทีปีหน้า วงเงิน 4 หมื่นล้าน ขยายราคาบ้านเป็น 1.2 ล้านบาท เพิ่มเงื่อนไขผ่อน 5,000 นาน 7 ปี ลั่นกดดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด 0.25%

โครงการ "บ้านล้านหลังเฟส1" ภายใต้วงเงิน 40,000 ล้านบาท อายุโครงการ 3 ปี เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถปล่อยกู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ล่าสุดสามารถปล่อยกู้ได้แล้วประมาณ 35,000 ล้านบาท และคาดว่า ภายในสิ้นปีนี้จะครบ 40,000 ล้านบาท 

 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)เปิดเผยว่า ธอส.อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด โครงการ "บ้านล้านหลังเฟส2"  ภายใต้กรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี  โดยจะขยายราคาบ้านจากเดิมที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็น 1.2 ล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำ  4 ปีแรกที่ 1.99%ต่อปี ระยะเวลาการกู้สูงสุด 40 ปี สามารถเลือกผ่อนชำระได้ 2 ทางเลือกคือ 1.ผ่อนชำระเงินงวดคงที่  4 ปีแรกที่ 3,900 บาทต่อเดือน หรือ 2. ผ่อนชำระคงที่ 7 ปีแรกที่ 5,000 บาทต่อเดือน

 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส.

 

“ทั้ง 2 เงื่อนไขอยู่ภายใต้อัตราดอกเบี้ยเดียวกัน แต่เพิ่มทางเลือกเพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รู้ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า จากภาระค่างวดยาวๆ จะได้ไม่เกิดภาวะช็อค โดยธอส.จะเสนอให้คณะกรรมการ(บอร์ด)พิจารณาภายในไตรมาส2 ปีนี้  หากเห็นชอบจะนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในไตรมาส 3 เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันก่อนที่โครงการ บ้านล้านหลังเฟส1 จะหมดอายุในสิ้นปีนี้”นายฉัตรชัยกล่าว

 

นายฉัตรชัยกล่าวต่อว่า การดำเนินงานในช่วง 9 เดือนจากนี้ ธอส.จะตรึงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำที่สุด เพราะเป็นจังหวะในการซื้อบ้าน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย แม้ว่าในอนาคตคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และทำให้ดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตาม แต่ธนาคารจะรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าระบบไว้ที่ 0.25% โดยจะนำระบบดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ

ทั้งนี้ เพราะต้นทุนการให้บริการผ่านโมบาย แบงกิ้งถูกกว่าการให้บริการหน้าสาขาถึง 20 เท่า หากธอส.ส่งเสริมให้ลูกค้าหันมาใช้บริการแอปพลิเคชั่นมากขึ้น จะสามารถลดต้นทุนได้มาก และสามารถนำต้นทุนที่ลดลงไปลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าได้มากขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันลูกค้ากว่า 85% ใช้บริการผ่านโมบาย แอฟพลิเคชั่น และส่วนใหญ่ใช้ชำระเงินกู้

 

แถลงข่าวไตรมาส 1/64 ธอส.

 

ขณะเดียวกันช่วงที่เหลือของปี งบดุลของธนาคารต้องแข็งแรง เพราะยังไม่รู้แน่ชัดว่า สถานการณ์โควิด-19 จะกลายพันธุ์หรือไม่ ดังนั้นธอส.ได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญถึง 100,502 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)สูงถึง 183% ซึ่งเป็นธนาคารรัฐแห่งแรกที่ตั้งสำรองเกินแสนล้านบาท  สะท้อนถึงความไม่แน่นอนและแนวโน้มตัวเลขเป็นพีแอลที่อาจสูงขึ้น จากปัจจุบันที่เอนพีแอลอยู่ในระดับ 4.07% หรือ 5.48 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่อยู่ในระดับ 3.6% หรือ 4.75 หมื่นล้านบาท

 

“เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น เกิดจากลูกค้าที่ครบมาตรการช่วยเหลือผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 1 และไม่ต่อมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 ประกอบกับมีลูกค้าบางส่วนที่ยังประสบปัญหาด้านรายได้ 3,098 ล้านบาทและอีก 122 ล้านบาทเป็นลูกค้าจากการรับโอนพอร์ตลูกหนี้หลังการควบรวมบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย(บตท.) ที่ยุบเลิกกิจการ เพื่อโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิหนี้สิน ทุน และภาระผูกพันของบตท. ให้แก่ ธอส.” นายฉัตรชัยกล่าว

 

แถลงข่าว ธอส. ไตรมาส 1/64

 

อย่างไรก็ตาม ธอส.เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งมาตรการพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้ต่อไป  โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ามาตรการช่วยเหลือกลุ่มใหม่ 9.8 หมื่นล้านบาทที่กว่า  90% เลือกผ่อนชำระ 25% ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในสิ้นปีนี้ จะเข้าไปดูว่า สามารถเพิ่มผ่อนชำระได้ 50% ในปีที่ 2 และ 100% ในปีที่ 3 หรือไม่ หากไม่สามารถชำระได้ อาจขยายเวลาการผ่อนชำระนานขึ้น แต่ให้หาผู้กู้ร่วมมาเพิ่มเติม ขณะที่ลูกค้าที่เข้ามาตรการเดิมกว่า 1.3 แสนล้านบาทกลับมาจ่ายหนี้ได้ตามปกติ

 

แถลงข่าว ธอส.w9i,kl 1/64

 

สำหรับผลการดำเนินงาน ไตรมาส 1 ปี 2564 จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ช่วงปลายปี 2563 ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปี สะท้อนจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 (1 มกราคม–31 มีนาคม 2564)ปล่อยได้ 4.68 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.35 ล้านล้านบาท แต่จะไม่ได้กระทบเป้าการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่วางไว้ 2.15 แสนล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: