บิ๊กเนม เดินหน้าลงทุน ฟื้นรพ.เอกชน 

26 มี.ค. 2564 | 07:50 น.

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนส่งสัญญาณฟื้นตัว บิ๊กเนมเด้งรับสาดงบลงทุน ทั้งตั้งศูนย์แพทย์เฉพาะทาง เทคโนโลยีขั้นสูง ผนึกพันธมิตรเสริมแกร่งด้านการรักษาพยาบาล เตรียมพร้อมรับผู้ป่วย 

ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ Medical Tourism หายไปกว่า 80% นับจากต้นปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งจึงเริ่มขยับตัวเปิดยุทธศาสตร์เพื่อชิงสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการต่างๆ นอกเหนือจากกลุ่มผู้ป่วย ดังนั้นนอกเหนือจากการตั้งศูนย์แพทย์เฉพาะทาง การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรักษาพยาบาล ยังจะเห็นบริการใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มผู้สูงวัย

ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลพริ้นซ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยอมรับโควิด-19 ทำให้แผนเดินหน้าก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่ม NKG ประเทศญี่ปุ่น ด้วยงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาทนั้นดีเลย์ไป เพราะติดขัดที่ทีมงานจากญี่ปุ่นไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่อย่างไรก็ดี ล่าสุดทีมงานญี่ปุ่นได้เข้ามาดำเนินการแล้วทั้งด้านการก่อสร้าง  อุปกรณ์ เทคโนโลยี รวมถึงบุคลากร และเมื่อทำไพลอตเทสต์เรียบร้อยก็จะเริ่มดำเนินทันที

โดยบริษัทมีแผนสร้างแบรนดิ้งและการตลาด ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดรับผู้สนใจเข้ามาใช้บริการได้ภายในกลางปีนี้ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อไป โดยจุดเด่นของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงวัยแห่งแรกนี้จะมุ่งเน้นการฟื้นฟูให้ผู้สูงวัยดูแลตนเองได้ไม่ใช่การรักษาหรือดูแลผู้ป่วยสูงวัยเท่านั้น 

สำหรับแผนการลงทุนในครึ่งปีหลังบริษัทเตรียมใช้งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาทในการร่วมทุนเพื่อบริหารโรงพยาบาลต่างๆ ในหัวเมืองรองทั้งภาคเหนือ อีสานและใต้ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 300-400 เตียง รวมทั้งขยายสาขาคลินิกชุมชนเพิ่มขึ้นในทำเลที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ยังใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในการลงทุนด้านพัฒนาระบบเทคโนโลยี AI การพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการ On-Cloud เพื่อเสริมบริการให้กับผู้ป่วย เพื่อก้าวเข้าสู่เฮลท์เทค คอมพานี โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น 40% 

แผนขับเคลื่อน

ขณะที่รศ.ญาณเดช ทองสิมา  ประธานกรรมการ บริษัท โรงพยาบาลนครธน จำกัด กล่าวว่า นครธน มุ่งยกระดับด้านการให้บริการศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง โดยจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็น บำรุงราษฎร์ เฮลท์เน็ตเวิร์ก นำนวัตกรรมการรักษาด้วยเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) และไมโครสโคป (Microscope) มาให้บริการศูนย์สมองและระบบประสาท, ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รักษาครอบคลุมทุกปัญหาโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ศูนย์กระดูกและข้อ 

นอกจากนี้ยังจัดตั้งคลินิกเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ พร้อมยกระดับสู่การดูแลผู้ป่วยสูงอายุแบบองค์รวม (Geriatric  Clinic) โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการดูแลรักษาผู้สูงอายุ (Geriatric Doctor) ซึ่งแพทย์จะเป็นศูนย์กลางในการดูแลผู้ป่วยร่วมกับทีมรักษา ได้แก่ แพทย์เฉพาะทางในสาขาโรคต่างๆ ของผู้ป่วยแต่ละท่าน เภสัชกรผู้จ่ายยา พยาบาลผู้ดูแล นักกายภาพบำบัด และนักโภชนาการ เป็นต้น และในอนาคตจะต่อยอดสู่  เพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุรพ.มีแผนการสร้าง Intermediate Ward โดยการปรับปรุงพื้นที่อาคารโรงพยาบาลให้เหมาะสมสอดคล้องกับผู้สูงอายุ ประกอบไปด้วย Geriatric Ward หอพักผู้ป่วยผู้สูงอายุที่รักษาต่อเนื่องยังไม่พร้อมกลับบ้าน Palliative Ward ดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง และ VIP Ward ดูแลผู้ป่วยด้วยห้องพักที่สะดวกสบายและการบริการสุดพิเศษ เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยด้วย

ด้านโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งประกาศยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการให้บริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลกด้วยนวัตกรรม (World-class holistic healthcare with innovation) ด้วยจุดแข็ง 3C ได้แก่ Critical Care การรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤติ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผู้ป่วยวิกฤติและทีมสหวิชาชีพ ที่พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง, Complicated disease การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนหลายโรค และ Cutting-edge technology การรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

โดยรศ.นพ. ทวีสิน ตันประยูร ประธานปฏิบัติการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า บำรุงราษฎร์มีแผนพัฒนาและขยายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) โดยมีจุดยืนในการรักษาโรคยาก โรคซับซ้อน และโรคเฉพาะทางได้อย่างครอบคลุม ด้วยเทคโนโลยี โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อเน้นการเพื่อปูทางสู่การเป็น Destination medical tourism รวมทั้งต่อยอดไปยังบริการ Bumrungrad at home ที่จะช่วยให้คนสามารถดูแล ป้องกัน รักษาตัวเองได้ที่บ้าน 

“บำรุงราษฎร์เน้นเรื่องของ medical tourism ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยและบำรุงราษฎร์ เป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มาโดยตลอด อีกทั้งโรงพยาบาลมีพอร์ตลูกค้ากลุ่มนี้มากที่สุด หากวัคซีนได้ผล medical tourism จะกลับมาแน่นอน”

สำหรับแนวทางการดำเนินการยกระดับ Center of Excellence โรงพยาบาลจะเน้นขยายศูนย์ฯ ผ่านโมเดลธุรกิจ Bumrungrad Health Network โดยร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตรกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ เพื่อขยายการเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานบำรุงราษฎร์ในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ที่อาศัยอยู่ในเขตปริมณฑลและตามภูมิภาคต่างๆ

นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG  กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลและการดูแลสุขภาพปีนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้นและพลิกกลับขึ้นใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งบริษัทมีแผนใช้เงินกว่า 1,163 ล้านบาทเพื่อลงทุนในโครงการใหม่และขยายขีดความสามารถในธุรกิจเดิมของโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลธนบุรีซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ (Tertiary care) ที่มีความสามารถรักษาโรคที่มีความซับซ้อนนอกจากนี้ยังจะใช้เงินลงทุนราว 840 ล้านบาทในการก่อสร้างอาคารใหม่ จัดหาเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับคนไข้  

โรงพยาบาลธนบุรี

ขณะเดียวกันโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง มีแผนขยายตลาดคนไข้ในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนคนไข้ต่างชาติที่ชะลอตัว  ขณะที่โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ รังสิต บนเนื้อที่กว่า 140 ไร่ ที่พัฒนาเป็นที่พักอาศัยสูง 7 ชั้น จำนวน 494 ยูนิต รองรับคนวัยเกษียณ ภายในโครง การมีโรงพยาบาลธนบุรีบูรณา (โรงพยาบาลฟื้นฟูสำหรับผู้สูงวัย) และจิณณ์ เวลเนส เพื่อดูแลสุขภาพแก่ผู้อยู่อาศัย ล่าสุดโครง การอยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่รองรับไลฟ์สไตล์ เช่น ฟาร์มปลูกผักผลไม้ออร์แกนิก จัดสวน สระบัว

อนาคตจะพัฒนาพื้นที่ช็อปปิ้งแบบเอาต์ดอร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านเสริมสวย ร้านค้า และยังจัดกิจกรรมเชิญกลุ่มเป้าหมาย ทดลองพักอาศัยภายในโครงการ พร้อมทำกิจกรรมหลากหลาย เพื่อสัมผัสประสบ การณ์การใช้ชีวิตในจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ที่แตกต่างจากโครงการ อื่นๆ

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนเปิดตัว “ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ” ย่านประชาอุทิศ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้ป่วยติดเตียง ภายใต้มาตรฐานทีมแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลธนบุรี ที่มีประสบการณ์ด้านการรักษาพยาบาลมากว่า 40 ปี โดยมีทีมแพทย์ตรวจเยี่ยม พยาบาลและเจ้าหน้าที่ 24 ชั่วโมง บริการอาหารและกิจกรรมฟื้นฟู ค่าบริการเดือนละประมาณ 30,000-50,000 บาทด้วย

ด้านศ.ดร.นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) “BCH” ผู้บริหารโรงพยาบาลเกษมราษฏร์ กล่าวว่า ปีนี้โรงพยาบาลเน้นการปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลสาขาเดิม และศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายอาณาเขตการให้บริการไปยังพื้นที่ศักยภาพใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้ครอบ คลุมความต้องการของคนไข้ท้องถิ่น โดยในปีนี้ได้เปิดให้โรงพยาบาลใหม่ 2 แห่งคือ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี ซึ่งเปิดบริการแล้วเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมาและโรงพยาบาล เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ซึ้งใช้งบลงทุนเฟสแรก 1,570 ล้านบาทและจะเปิดบริการในเดือนมิ.ย.นี้ 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :