โยกเงินกู้ฟื้นฟูอีก 8.71 หมื่นล้าน

27 ก.พ. 2564 | 10:40 น.

คลังเดินหน้ากู้ 2.1 แสนล้านบาท จ่ายเงินโครงการ เราชนะ เผยโยกจากเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 8.71 หมื่นล้านบาท ใช้ในโครงการเราชนะ 5 หมื่นล้าน ม.33เรารักกันอีก 37,100 ล้านบาท ส่งผลเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจเหลือน้อยลงจาก 3.9 แสนล้าน   

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 จากเดิมที่คาดว่า จะขยายตัวที่ 3.5-4.5%  มีค่ากลางที่ 4% เหลือ 2.5-3.5% มีค่ากลางที่ 3% โดย 1 ในปัจจัยที่ต้องบริหารจัดการคือ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมายที่ 93.5% หลังจากไตรมาส 4 ปี 2563 ซึ่ึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ 2564 มีการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ได้ตามเป้า โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจและเงินกู้ภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่คาดว่า จะเบิกจ่ายได้ 80% แต่มีการเบิกจ่ายไปเพียง 52.53% เท่านั้น โดยเฉพาะแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเบิกจ่ายเพียง 31.66% ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติไป 133,121.38 แสนล้านบาทหรือเบิกจ่ายได้ 42,159.08 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดจากสศช.เกี่ยวกับการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทพบว่า ได้อนุมัติไปแล้ว 256 โครงการ เป็นวงเงิน 711,606.64 ล้านบาท คิดเป็น 71.16%  โดยเป็นโครงการในแผนงานเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข 16 โครงการ วงเงิน 19,698.14 ล้านบาท มีวงเงินคงเหลือ 25,301.86 ล้านบาทจากกรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายเพียง 1,561.01 ล้านบาทหรือ 7.92% 

ขณะที่แผนงานเยียวยาประชาชนอนุมัติไปแล้ว 8 โครงการ วงเงินรวม 558,753.21 ล้านบาทหรือ 98.89% ของกรอบวงเงิน 565,000 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ดึงเพิ่มเติมจากวงเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 10,000 ล้านบาท จึงมีวงเงินคงเหลือเพียง 6,246.79 ล้านบาท แต่ยังเหลือวงเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ เราชนะ และ ม.33เรารักกันอีก ดังนั้นจึง คาดว่าจะมีการดึงเงินเพิ่มเติมจากวงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอีก  ซึ่งจะทำให้วงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเหลือน้อยลงจากเดิมที่เคยตั้งไว้ที่ 400,000 ล้านบาท ล่าสุดเหลือ 390,000 ล้านบาท    

โยกเงินกู้ฟื้นฟูอีก 8.71 หมื่นล้าน

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการใช้เงินในโครงการ เราชนะ จะใช้งบประมาณ 2.1 แสนล้านบาท เพื่อจ่ายเยียวยาคนละ 7,000 บาทให้กับผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 31.1 ล้านคน โดยจะมีการโยกเงินจากแผนฟื้นฟูฯ 50,000 ล้านบาท ส่วนโครงการ ม.33 เรารักกัน จะใช้งบประมาณ 37,100 ล้านบาท โดยโยกงบมาจากก้อนฟื้นฟูเศรษฐกิจเช่นกัน 

สำหรับตัวเลขในวงเงินแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 3.9 แสนล้านบาท ล่าสุด ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ครม.อนุมัติวงเงินไปแล้ว 133,122 ล้านบาท คงเหลือ 2.56 แสนล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 5.6 หมื่นล้านบาท หรือ 41.91% ซึ่งสาเหตุที่่มีการเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากหลายโครงการขนาดใหญ่และสถานการณ์เปลี่ยนไป ทำให้บางโครงการแม้อนุมัติในหลักการแล้ว ต้องกลับมาปรับปรุงในส่วนของแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม

สำหรับวงเงินที่จะมาใช้ในโครงการ เราชนะ ตามแผนคือ ทยอยกู้เงินในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2564 เพื่อให้ครอบคลุมวงเงิน 2.1 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งเงินกู้ในประเทศ ซึ่งล่าสุดได้ระดมเงินก้อนใหญ่ผ่านการออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 60,000 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ในปีนี้ ได้ทยอยกู้มาแล้วรวม 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในส่วนของวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 7.11 แสนล้านบาท แต่กู้จริงประมาณ  5.48 แสนล้านบาท 

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า หากช่วงที่เหลือรัฐวิสาหกิจสามารถเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามแผนจะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจได้มากขึ้น ซึ่ง อาจมีข้อจำกัดบ้างในแง่การก่อสร้างหรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม อาจทำให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ล่าช้าไปบ้าง ที่เหลือปกติเบิกจ่ายงบลงทุนได้ประมาณ 60%ของงบประมาณ ซึ่งคาดว่า ภาครัฐพยายามเต็มที่ 

“ปกติการเบิกจ่ายงบส่วนใหญ่เป็นงบประจำอยู่แล้ว ถ้าเบิกจ่ายไตรมาสแรกใกล้เคียง 32% ก็เป็นไปได้แต่งบลงทุนเป็นส่วนเล็ก โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่สร้างความเชื่อมั่นจะเป็นประเด็นสำคัญ หากเบิกจ่ายได้ตามเป้าเมื่อถึงครึ่งปีหลังสถาน การณ์โควิดเริ่มดีขึ้น ภาครัฐลงทุนได้ต่อเนื่องก็จะเป็นการส่งไม้ต่อให้ภาคเอกชนด้วย 

สิ่งที่เราเห็นภาครัฐสามารถเบิกจ่ายได้ค่อนข้างมากในปีปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ที่มีการเบิกจ่ายล่วงหน้า ซึ่งไม่ได้ล่าช้าเหมือนปีงบประมาณ 2563 จึงเชื่อว่า ภาครัฐไม่น่าจะล่าช้ามากนักยกเว้นโครงการขนาดใหญ่อาจล้าช้า โดยกรุงไทยมองในแง่ของการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนต่อเนื่องถ้าหากการเบิกจ่ายภาครัฐทำได้ตามเป้าหมาย จากก่อนหน้าปัจจัยทางการเมืองถูกจับตามอง

สำหรับมาตรการกระตุ้นบริโภคนั้นคงจะต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์พอสมควร เพราะโครงการ เรารักกันนั้นสาเหตุเพราะเกิดการระบาดโควิดรอบสองตั้งแต่ปลายปี 2563 ซึ่งประเมินกันว่าจะคลี่คลายได้ภายใน 2 เดือน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว ภาคแรงงานจะได้รับผลกระทบในมุมของชั่วโมงการทำงานที่ลดลงในวงกว้าง จึงจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเสริมรายได้เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตและการใช้จ่ายในประเทศเดินต่อได้ 

ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,656 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564