ผู้ว่า กทม.ยัน ถนนเจริญนครเละ ไม่เกี่ยวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง

21 ก.พ. 2564 | 11:58 น.

ผู้ว่า กทม.เผยถนนเจริญนครเละเพราะ กปน.ขยายท่อประปา ยืนยันไม่เกี่ยวกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ชี้เคลื่อนย้ายสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องเสร็จก่อนเปิดใช้รถไฟฟ้าขณะที่ เคที แจ้ง งานก่อสร้างที่รบกวนผิวจราจร เสร็จไปนานแล้ว ขณะนี้เร่งประสานงานหน่วยงานกฟน.และ กปน. ที่มีการก่อสร้างสาธารณูปโภคดำเนินการแก้ไขแล้ว

จากประเด็นที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โพสต์เฟซบุ๊ค "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2564 ถึงความล่าช้าการเคลียร์พื้นที่จราจรบนถนนเจริญนครที่จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสายสีทอง การรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับสายสีทองทำเสร็จไปตั้งแต่ปี 2563 แต่สาเหตุที่ถนนเละ เพราะการประปานครหลวง (กปน.) เริ่มขุด เพื่อทำงานขยายท่อ ซึ่งจริงๆ ควรดำเนินการตั้งแต่ปีที่แล้ว 

นอกจากนี้ งานก่อสร้างของ กปน. มีความล่าช้ามาก เกินกำหนดเสร็จมา 2-3 เดือนและไม่มีการปรับหน้างาน เพื่อลดความเดือดร้อนของผู้ใช้ถนน

 

ขณะเดียวกัน ดร.เกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ได้ชี้แจงในกรณีเดียวกันว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จและเปิดให้บริการไปแล้วตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2563 ส่วนการก่อสร้างที่มีการรบกวนผิวถนนและทางเท้าได้ทยอยเสร็จสิ้นตั้งแต่ช่วงมิถุนายน - พฤศจิกายน 2563 แล้ว แต่เนื่องจากในแนวถนนดังกล่าวปัจจุบันมีการก่อสร้างของระบบสาธารณูปโภคอื่น  คือ โครงการก่อสร้างท่อร้อยสายใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โครงการวางท่อ 1,000 มม. และงานย้ายท่อที่กีดขวางงาน Duct bank  และซ่อมแซมท่อประปาขนาด 500 มม.ของการประปานครหลวง (กปน.) จึงทำให้ในเส้นทางดังกล่าวยังมีการขุดก่อสร้างใช้ผิวการจราจรอยู่  

บริษัทฯได้มีการประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของโครงการและสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้เส้นทาง  ในส่วนของถนนอื่น ๆ ที่ไม่มีงานก่อสร้างท่อประปาและท่อร้อยสายใต้ดิน ได้แก่ ถนนกรุงธนบุรีและถนนสมเด็จเจ้าพระยา บริษัทฯได้คืนผิวถนนได้หมดเรียบร้อยแล้ว

จากการประสานงานทางหน่วยงานเจ้าของโครงการแจ้งว่า จะเร่งดำเนินการให้เสร็จตามแผนและจะเริ่มทยอยคืนผิวการจราจรได้ ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้  ถึงเดือนพฤษภาคม 2564  ซึ่งได้มีการติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ใช้เส้นทางในถนนดังกล่าวทราบโดยทั่วกัน  

โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระยะที่ 1 (สถานีกรุงธนบุรี-สถานีสำนักงานเขตคลองสาน) โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ที่กรุงเทพมหานครดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เริ่มก่อสร้างในปี 2561 ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองจะทำให้ประชาชนย่านฝั่งธนบุรี มีทางเลือกในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณสถานีคลองสาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลตากสิน สำนักการศึกษา สำนักงานเขตคลองสาน และสน.ปากคลองสาน จะช่วยให้การเดินทางมาติดต่อราชการของประชาชนสะดวกมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง