โตสวนโควิด  ‘อีลิทการ์ด’  ยอดขายพุ่ง-ล้างขาดทุนสะสม 

18 ก.พ. 2564 | 23:30 น.

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากมาย แต่กลับเป็นโอกาสของ “อีลิทการ์ด” ที่ยอดขายบัตรโตทะลุเป้าไปมาก ซึ่งทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้จะเป็นเช่นไร และในปีนี้รัฐบาลยังมีนโยบายกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศผ่านสมาชิกอีลิทการ์ดอีกด้วย นายสมชัย สูงสว่าง ผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) มีคำตอบ

โควิดดันยอดขายพุ่ง

การเกิดโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายบัตรอีลิทการ์ด  แต่ในทางตรงกันข้ามเรากลับขายได้เพิ่มขึ้นมาก จากปกติที่ในทุกปีจะวางการเติบโตจากเป้าหมายที่ตั้งไว้เฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 เราตั้งเป้าไว้ที่ 2,288 ใบ แต่ขายได้จริงสูงถึง 2,600 ใบ ขณะที่ปีงบประมาณ 2562 ขายได้ 2,143 ใบ ดังนั้นในปีงบประมาณ2563 ยอดขายจึงเติบโตกว่า 40%

ขณะที่ในปีงบประมาณ2564 เราวางเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 2,560 ใบ (ตั้งการเติบโตตามปกติที่อยู่ที่ 10% ต่อปี) แต่ผ่านมาแล้ว 3 เดือน คือ ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ2564 (ต.ค.-ธ.ค.63) ขายได้ 1,516 ใบแล้ว ถือว่าเติบโต140% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน      

การที่มีต่างชาติสนใจเข้ามาซื้อบัตรอีลิทการ์ดเพิ่มมากขึ้น หลังเกิดโควิด-19 เป็นเพราะ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. เมืองไทยมีมาตราการดูแลโควิดที่ดี คนมีความเชื่อมั่น 2. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขยายเวลาอยู่ต่อสำหรับนักท่องเที่ยวตกค้าง เลยมาซื้อบัตรอีลิท 3.กลุ่มต่างชาติที่ถือวีซ่าลองสเตย์อยู่แล้ว รวมถึงกลุ่มที่ถือวีซ่าทำงานแบบNON-B ปัจจุบันเปลี่ยนมาถือบัตรอีลิทการ์ด แทนเพิ่มขึ้น 

เป็นเพราะกลุ่มเหล่านี้ต้องการให้เราอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่า  การอำนวยความสะดวกที่สนามบิน  และบริการแบบวีไอพีที่สมาชิกอีลิทการ์ดได้รับ และแม้จะเกิดการแพร่ระบาดของ
โควิด-19 ระลอกใหม่  แต่เราก็ยังคงได้รับใบสมัครที่ยังเยอะอยู่  

ดังนั้นยอดขายอีลิทการ์ดในปีนี้ก็มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เช่นกัน ซึ่งในปีนี้บริษัทได้ขยายตัวแทนจำหน่ายเพิ่มขึ้นอีก 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท HIS (ทัวร์ญี่ปุ่น),MandarinAccounting,Shanghai Mobao (จีน) และณุศาศิริ โดยเราเน้นหาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาเป็นตัวแทนขาย เพื่อผลักดันยอดขาย อาทิ ณุศาศิริ ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นด้านเวลเนส (WMA) ก็สามารถต่อยอดการขายให้อีลิทการ์ดได้

ทำให้ปัจจุบันอีลิทการ์ดมีตัวแทนขายอยู่รวม 20 บริษัทเป็นบริษัทนานาชาติ และการทำตลาดในต่างประเทศของบริษัท เราไม่สามารถไปร่วมงานในต่างประเทศได้ เพราะอยู่ในช่วงโควิด ก็จะใช้ในรูปแบบในลักษณะออนไลน์ การทำตลาดผ่านโซเชี่ยล มีเดีย รวมทั้งยังเรายังจะเน้นการทำองค์กรสู่ดิจิตอล ทรานฟอร์ม ซึ่งจะมีการเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ การทำโมบาย แอพ เก็บข้อมูลให้ลูกค้าได้รับความสะดวก 

แผนการดำเนินธุรกิจของไทยแลนด์ อีลิทการ์ด

สำหรับกลุ่มสมาชิกอีลิทการ์ดที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด หลังโควิด-19 หลังรัฐบาลไทยผ่อนปรนให้กลุ่มที่ถืออีลิทการ์ดเดินทางเข้าไทยได้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอนุญาตให้เข้ามาได้ 1,600 คน แต่ด้วยเที่ยวบินที่เข้าไทยมีน้อย และเป็นการเปิดให้บริการกึ่งเชิงพาณิชย์ ก็ทำให้มีเข้ามาจริงแล้วอยู่ที่ 700 คน โดยคนอังกฤษ เดินทางเข้ามามากที่สุด ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

ส่วนจีนที่เดิมเดินทางเข้ามาเป็นอันดับ1 ยังเดินทางเข้ามาไม่ได้ แต่ก็มีการซื้ออีลิทการ์ดอยู่ แต่เป็นการซื้อไว้ก่อน ทั้งนี้การที่จีนมาซื้ออีลิทการ์ดมากสุด เป็นเพราะคนจีนโหยหาความก้าวหน้า เมืองไทยเหมาะสมส่งลูกหลานมาเรียน คนมีเงิน ก็มองที่จะเข้ามาลงทุนหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยและมาท่องเที่ยวในไทย 

นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2564 บริษัทยังได้ปรับราคาค่าบัตรอีลิทการ์ด ประเภท Easy access ซึ่งเป็นบัตรที่มีราคาต่ำสุด จาก 5 แสนบาท เป็น 6 แสนบาท จากประเภทบัตรทั้งหมด 9 ประเภท ไม่รวม Elite Flexible One ที่เป็นบัตรเฉพาะกิจมีอายุแค่ 2 ปี

อีกทั้งบริษัทยังประเมินว่าในปีนี้จะสามารถล้างการขาดทุนสะสมที่เหลืออยู่ 246 ล้านบาทได้หมด ซึ่งถือว่าเร็วกว่าเดิมถึง 2 ปี จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะล้างขาดทุนสะสมได้ในปี 2566 เนื่องจากการเกิดโควิด-19 ไม่เพียงทำให้ขายบัตรได้เพิ่มขึ้น แต่เรายังมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง จากสมาชิกที่ใช้บริการต่างๆในเรื่องของสิทธิประโยชน์ของบัตรลดลง หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

 

 

อีลิทการ์ดดันลงทุน

ขณะเดียวกันในปีนี้รัฐบาลยังมีนโยบายกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศผ่านสมาชิกอีลิทการ์ดอีกด้วย ที่จะมี 2 โครงการเกิดขึ้น โดยที่เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อต้นปี คือ โครงการบัตรอีลิทการ์ดเฉพาะกิจ Elite Flexible One มูลค่า 5 แสนบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี   

ขณะนี้ไทยแลนด์อีลิทการ์ด ทำเอ็มโอยูร่วมกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ซึ่งทำไปแล้ว 10 ราย นำโครงการคอนโดมิเนียมกว่า 46 โครงการ ราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปมาเสนอขายต่างชาติ เพื่อช่วยผู้ประกอบการอสังหาฯระบายสต็อก 

ส่วนอีกโครงการคือ Elite Flexible Plus  จะเปิดให้ต่างชาติที่ซื้อบัตรอีลิทการ์ด ที่มีมูลค่า 1 ล้านบาทขึ้นไป หากนำเงินเข้าลงทุนในไทย 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ภายใน 1 ปี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์, เปิดบริษัท, ลงทุนในตลาดทุน ซื้อหุ้นกู้  ฝากเงินกับสถาบันการเงินในไทย จะลงทุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือกระจายการลงทุนก็ได้ ซึ่งเราจะประสานทำเรื่องขอ Work Permit ทำงานในไทย อายุ 2 ปี

“เราตั้งเป้าการขายบัตรอีลิท การ์ดในโครงการนี้อยู่ที่ 1,000 คน(ใบ) เพื่อให้เกิดการลงทุนในไทยราว 3 หมื่นล้านบาท” นายสมชัย กล่าวทิ้งท้าย 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :