“มาดามเดียร์” ถามดังดัง 3 ข้อ “ย้ายหมอชิต2” ประชาชนเสีย แล้วใครได้ประโยชน์ ?

12 ก.พ. 2564 | 10:30 น.

“วทันยา วงษ์โอภาสี” หรือ มาดามเดียร์” ตั้งคำถาม 3 ข้อ ถึงความเหมาะสมกับโครงการ “ย้ายหมอชิต2” ถาม ประชาชนเสีย แล้วใครได้ประโยชน์ ?

วันที่ 12 ก.พ. 64 นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี หรือ มาดามเดียร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถาม 3 ข้อ ถึงความเหมาะสมกับโครงการย้าย “สถานีขนส่งหมอชิต2” กลับมาที่เดิม ฝั่งถนนพหลโยธิน (จตุจักร) เหมือนในอดีต โดยเนื้อหาระบุว่า 

1.การย้ายสถานีขนส่งหมอชิต2 กลับมาที่เดิมนั้นเหมาะสมจริงหรือ?

เมื่อช่วงกลางปี 2563  ตามแผนโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ปรากฏข่าวของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งสามารถปิดดีลกับกรมธนารักษ์เพื่อรับสัมปทานพัฒนาที่ดินเป็นหมอชิตคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ซึ่งโมเดลในการพัฒนาหนึ่งในนั้นคือการมีสถานีขนส่งผู้โดยสารรวมอยู่ด้วย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาระหว่างกรมธนารักษ์และ บขส. ในการพิจารณาย้ายสถานีขนส่งหมอชิตใหม่กลับมายังบริเวณเดิมเพื่อสร้างทราฟฟิคให้โครงการเพราะตามสัญญาการเช่าที่ของหมอชิตปัจจุบันกับ รฟท. กำลังจะหมดสัญญาลงในปี พ.ศ. 2569

แต่หากพิจารณาจากพื้นที่บริเวณโดยรอบระหว่างสถานีขนส่งหมอชิตเก่าและหมอชิตใหม่ ที่ปัจจุบันอยู่ใกล้บริเวณสถานีกลางบางซื่อที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา การขนส่งทางน้ำเพราะอยู่ใกล้สถานีบางโพธิ์ซึ่งเชื่อมต่อกับท่าเรือบางโพธิ์และยังเป็นจุดเชื่อมโยงทางบกระหว่างทางด่วนสายจตุจักร-กาญจนาภิเษก และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังทางด่วนศรีรัชได้อีกด้วย 

โครงการสถานีกลางบางซื่อใช้งบประมาณแผ่นดินไปกว่า 34,000 ล้านบาท นั่นยังไม่นับรวมถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ภาคเอกชนลงทุนภายใต้โครงการ PPP ในการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและกระจายความเจริญไปยังภูมิภาค ด้วยงบประมาณการลงทุนดังกล่าวพร้อมทำเลที่ตั้งที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณชุมชนที่อยู่อาศัย แถมรายล้อมด้วยจุดศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทุกทาง

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ตั้งบปัจจุบันมีความเหมาะสมกว่าทุกทางในการย้ายสถานีขนส่งกลับมายังที่เก่า (สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต) ที่ปัจจุบันแม้ไม่มีสถานีขนส่งหมอชิตการจราจรโดยรอบห้าแยกลาดพร้าวก็ยังคงติดขัดเป็นอันดับต้นๆของ กทม. แล้วหากย้ายกลับมาจะยิ่งทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

2.    งบประมาณการเวนคืนที่ดินของภาครัฐและค่าก่อสร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมต่อโครงการเอกชนมากกว่า 6,000ล้านบาทเหมาะสมหรือไม่?

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศต้องกู้เงินมาเพื่อแก้วิกฤตเยียวยาประชาชาชนที่กำลังเดือดร้อนถ้วนหน้า การย้ายสถานีขนส่งหมอชิตกลับมายังจุดเดิมนั้น จะอยู่ในตัวอาคารคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ที่เอกชนผู้ได้รับสัมปทานจากกรมธนารักษ์กำลังก่อสร้างใหม่จำนวนพื้นที่ 810,000 ตารางเมตร ในขณะที่พื้นที่ที่ บขส. จะใช้ดำเนินการจริงมีเพียง 110,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 13.5% ของพื้นที่โครงการทั้งหมด แต่เพื่อรองรับการจราจรขนส่งที่จะเพิ่มมากขึ้นทำให้ต้องสร้างทางเชื่อมเข้าตัวอาคารจากทางด่วนดอนเมือง-โทลล์เวย์

จึงเป็นที่มาให้ต้องเวนคืนที่ดินของประชาชนกว่า 60 แปลง ซึ่งรัฐจะต้องใช้งบประมาณในการเวนคืนที่ดินสูงถึงกว่า 6,000 ล้านบาท หากยึดจากการประเมินราคาที่ดินล่าสุดย่านลาดพร้าว ยังไม่นับรวมถึงค่าก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมเข้าตัวอาคารจากทางด่วนดอนเมือง-โทลล์เวย์ 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้นที่รัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญภาวะวิกฤตเม็ดเงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ควรถูกนำไปใช้กับเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนอย่างปัญหาปากท้องของประชาชน อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมถึงความเดือดร้อนของประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้

3.    การย้ายสถานีขนส่งหมอชิต2 “ประชาชนเสีย-แล้วใครได้ประโยชน์?”

รัฐบาลใช้เงินภาษีประชาชนในการเวนคืนที่ดินและสร้างทางเชื่อมยกระดับจากทางด่วนเพื่อเข้าตัวอาคารที่เป็นของบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทาน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเอกชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่องเพราะจ่ายแค่ค่าสัมปทานให้รัฐในระยะเวลา 30 ปีเป็นเงินเพียง 784 ล้านบาท ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่หากเรานำไปเปรียบเทียบกับงบประมาณการเวนคืนที่ดินกว่า 6,000 ล้าน นี่ยังไม่นับรวมกับค่าก่อสร้างทางเชื่อมอาคารที่รัฐจะต้องจ่ายเพิ่มอีก

นอกจากนี้หากมองถึงการพัฒนาศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่รัฐวางยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่อเชื่อมโยงทั้งระบบทางราง ทางบก ทางน้ำและทางอากาศเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนแล้วการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตใหม่กลับมายังจุดเดิมนอกจากจะย้อนแย้งกับยุทธศาตร์การพัฒนาแล้วยังสร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้ประชาชน

ในทางกลับกันหากทำตามข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ที่มองว่าให้นำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาเป็นอาคารจอดรถและชอปปิ้งมอลล์ในลักษณะเดียวกับพื้นที่ MRT ใต้ดินเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนที่เดินทางมาจากชานเมืองเพื่อมาเชื่อมต่อรถไฟฟ้า มาเที่ยวตลาดนัดจตุจักร หรือมาทำธุระในบริเวณใกล้เคียงโดยกรมธนารักษ์จัดเก็บค่าเช่าและค่าบริหารจัดการด้วยตนเองก็จะมีเงินเข้ารัฐใกล้เคียงกับค่าสัมปทานจากเอกชน โดยที่รัฐไม่ต้องเสียค่าเวนคืนที่ดิน ค่าก่อสร้างทางเชื่อมยกระดับ แถมยังได้ใจประชาชน ทางเลือกไหนคุ้มค่ามากกว่ากัน?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บขส.จ่อถกธนารักษ์ รื้อแผนพัฒนาหมอชิตเก่า

ชุมชนหลังหมอชิตเก่า คัดค้านย้าย บขส.กลับหมอชิตเก่า

เตรียมถก ย้ายหมอชิตกลับที่เดิม ก.พ.นี้

"ที่ดินหมอชิต"ฟื้นคืนชีพ ชาวบ้าน ค้าน เวนคืน  “วิภาวดี 5 ทะลุพหลฯ”

บขส.พับแผนย้ายที่ดินเช่า “สถานีขนส่งหมอชิต2” บูมสายสีแดง-น้ำเงิน