ลุ้น“กสทช.” ล้ม-ไม่ล้ม! “บิ๊ก ฉ.-บิ๊ก ณ.”ล็อบบี้ล้ม

11 ก.พ. 2564 | 11:39 น.

ลุ้น“กสทช.” ล้ม-ไม่ล้ม! “บิ๊ก ฉ.-บิ๊ก ณ.”ล็อบบี้ล้ม : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3653 หน้า 6 ระหว่างว้นที่ 14-17 ก.พ.2564 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

ประเด็นการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ที่ครึกโครมมาเกือบเดือน เนื่องจากผลของการคัดเลือกเป็นการ  “ล้มช้าง”

รายชื่อที่คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มี นายนภดล เทพพิทักษ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการสรรหา กสทช. ทั้ง 7 ด้าน จำนวน 14 คนนั้น พลิกโผเดิมแบบช็อกันทั้งเมือง บรรดาตัวเต็ง คนที่รู้ลึก  รู้จริง มากพลัง มากบารมี ใกล้ชิดรัฐบาล ไม่มีใครโผล่รอดมาแม้แต่รายเดียว

ผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือก ปรากฎดังนี้ 1.ด้านกิจการกระจายเสียง 2 คน คือ นางอรษา มุขเตียร์ เปอร์ดี้ ที่ปรึกษามูลนิธิคนพิการไทย , พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ.

2.ด้านกิจการโทรทัศน์ 2 คน คือ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ

3.ด้านกิจการโทรคมนาคม 2 คน คือ รศ.ดร.อธิคม ฤกษบุตร อาจารย์ในสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กับ นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม

4.ด้านวิศวกรรม 2 คน คือ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร , นายอานนท์ ทับเที่ยง ประธานสาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัล (ประธานสาขาการจัดการโทรคมนาคมและบรอดคาสติ้ง)

5.ด้านกฎหมาย 2 คน คือ นายจิตรนรา นวรัตน์ อดีตผู้ตรวจการอัยการ, ร้อยโท ดร. ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ ผู้ชำนาญการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

6.ด้านเศรษฐศาสตร์ จำนวน 2 คน คือ ผศ.ดร.ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ , ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา ศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

7. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 2 คน พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, นายต่อพงศ์ เสลานนท์ อดีตปรึกษาประจำรองประธาน กสทช.

ตามขั้นตอนแล้ว เลขาธิการวุฒิสภาในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหา กสทช. จะนำรายชื่อทั้ง 14 คน พร้อมประวัติ และเอกสารหลักฐาน เสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อมีมติเลือกต่อไป

แม้จะคัดเลือกไปแล้วแต่ “ควันไฟ” ในการล้มการสรรหาดังระงมไปทั้งปฐพี เพื่อล้มกระดานปฎิบัติการเล่นสุดยอด น้อง ป. ล้ม พี่ ป.”

1.ผู้ที่ไม่ผ่านการสรรหากำลังยื่นอุทธรณ์ตามสิทธิ ม.49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา พ.ศ.2542

2.พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์ ข้าราชการบำนาญ กองทัพบก ผู้สมัคร กสทช. ด้านกฎหมาย ฟ้องศาลปกครอง 2 ประเด็น คือ 1.คณะกรรมการสรรหาฯ กรรมการกสทช.โดยมิชอบ 2.คณะกรรมการสรรหาฯส่งรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการกสทช.ที่มีลักษณะต้องห้ามและขาดคุณสมบัติให้วุฒิสภา และจะยื่นขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินด้วย

แต่นั่นยังไม่เท่ากับปฏิบัติการลับในวุฒิสภา ...ที่ผมได้ยินข่าวมาว่า กำลังตั้งไข่ล้มกระดานทั้งหมด 

ข้อมูลเชิงลึกจากแหล่งข่าวระดับสูงของวุฒิสภาว่า บิ๊กในรัฐบาลกำลังดำเนินการแทรกแซงการตัดสินใของวุฒิสภา ผ่าน “บิ๊ก  ฉ.” ทหารระดับนายพล อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง กับ  “ท่านนายพล ณ. มือปฏิบัติการพิเศษของผู้ใหญ่ โดยเดินเกมล็อบบี้ ส.ว. ยกมือรับร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับร่างของ ส.ส. ในการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ก่อนการคัดเลือกของวุฒิสภาจะเกิดขึ้นในปลายเดือนนี้ ซึ่งร่างพ.ร.บ. กสทช. ฉบับร่างของ ส.ส. ได้กำหนดให้มีการสรรหา กสทช.ใหม่ทันทีภายใน 15 วัน หลังจากที่ พรบ.กสทช.ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ แทนที่จะรับร่าง พรบ.กสทช.ฉบับใหม่ที่ผ่านการพิจารณาโดยกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา  

กฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีความแตกต่างกันอยู่มาก โดยร่างของกรรมาธิการฯ ได้มีการกำหนดมาตรา 10 ไว้เป็นบทเฉพาะกาล ที่ไม่รอนสิทธิของบุคคลที่กำลังอยู่ในการกระบวนการสรรหาอยู่ในขณะนี้ โดยสาระของมาตรา 10 ของร่าง.ส.ว นั้น กำหนดให้ กสทช.ที่กำลังสรรหาอยู่ขณะนี้ มีวาระการดำรงชั่วคราว 3 ปี และไม่ตัดสิทธิให้เข้ารับการสรรหาใหม่อีก 1 วาระ (6 ปี) ซึ่งถือว่า เหมาะสมกว่าร่างของ ส.ส. เป็นอย่างมาก  

อย่างไรก็ตาม บรรดา ส.ว.หลายคนเห็นว่า ร่างพ.ร.บ. กสทช. ฉบับของ ส.ส. ยังขาดความเหมาะสมและไม่มีความสมบูรณ์มากมายหลายประเด็น ที่ยังมีประเด็นต้องใช้เวลาแปรญัตติอย่างรอบครอบ เนื่องจาก กสทช.นั้น เป็นองค์กรอิสระ มีหน้าที่กำกับดูแลทรัพยากรคลื่นความถี่ของชาติ จึงมีความจำเป็นต้องให้เวลาเพียงพอในการพิจารณา พ.ร.บ..กสทช.อย่างรอบครอบ ในหลายประเด็น

1. ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ได้มีการตัด กสทช.ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านวิศวกรรมออกไปจาก พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ. 2560 ฉบับที่ 2 ซึ่งกำหนดให้มี กสทช. 7 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านกิจการกระจายเสียง 2. ด้านกิจการโทรทัศน์ 3. ด้านกิจการโทรคมนาคม 4. ด้านวิศวกรรม 5. ด้านกฎหมาย 6. ด้านเศรษฐศาสตร์ 7. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  

แต่ร่างพรบ.กสทช.ฉบับใหม่ กำหนดองค์ประกอบของ กสทช.ไว้ดังนี้     1. ด้านกิจการกระจายเสียง 2. ด้านกิจการโทรทัศน์ 3. ด้านกิจการโทรคมนาคม 4. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 5. ด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 6. ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฎิบัติหน้าที่ของกสทช. จำนวน 2 คน  

จะเห็นได้ว่าร่างพรบ.กสทช.ฉบับใหม่นี้ ยังมีจุดอ่อนของการเปิดกว้างด้านอื่นๆ นั้น อาจทำให้ขาดความชัดเจนเรื่องคุณสมบัติของ กสทช.ด้านอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้มีการสรรหา กสทช. ที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับความต้องการของภารกิจหลักของ กสทช.  

นอกจากนี้ กสทช.ทั้ง 3 ด้าน ที่ถูกตัดออกไปนั้น อาจทำให้ภารกิจของ กสทช. ขาดความสมบูรณ์ในการกำกับดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรม ด้วยเหตุผลดังนี้

1. ด้านกฎหมาย เหตุผล: กสทช.เป็นองค์กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม รวมทั้งกิจการดาวเทียม ที่มีความจำเป็นต้องมีการออกประกาศ บังคับการใช้กฎหมายตามอำนาจของกสทช. นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมมือ และเจรจาข้อตกลงกับหน่วยงานกำกับระหว่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติของ กสทช.ด้านกฎหมาย

2. ด้านวิศวกรรม จำเป็นต้องมีด้วยเหตุผลว่า  กสทช.ด้านวิศวกรรม มีความจำเป็นเพราะว่ากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม รวมทั้งกิจการดาวเทียมเกี่ยวข้องกับงานทางด้านวิศวกรรมโดยตรง ซึ่งต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมในการกำหนดนโยบายในการกำกับดูแลและส่งเสริมให้เลือกใช้เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

3. ด้านเศรษฐศาสตร์ จำเป็นต้องมีด้วยเหตุผลว่า กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์มีความจำเป็น เพราะว่าในการกำกับดูแลและส่งเสริมกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม รวมทั้งกิจการดาวเทียมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั้นมีความจำเป็นต้องต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ในการบริหารระบบนิเวศน์ทรัพยากรคลื่นความถี่และสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมให้มีความสมดุล มีความทั่วถึง คุ้มค่าต่อการลงทุน ขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน

ดังนั้น จึงมีความห่วงใยต่อกระบวนการสรรหาและกระบวนการร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่นั้น จะต้องมีความรอบครอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และระมัดระวังมิให้ พรบ. กสทช. ฉบับใหม่ มาเป็นอุปสรรคทำให้กระบวนการสรรหา กสทช. ที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ ต้องถูกยกเลิกไป และต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในการสรรหา กสทช. ตามพรบ.กสทช.ฉบับใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นเกือบหนึ่งปีสำหรับกระบวนการสรรหา ทำให้สิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณของประเทศ และต้องปล่อยให้ คณะกรรมการ กสทช. รักษาการชุดปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งมาแล้วมากกว่า 10 ปี  

ทั้งๆ ที่วาระการดำรงตำแหน่ง กสทช.มีวาระเท่ากับ 6 ปีเท่านั้น ซึ่งมีข้อวิจารณ์ว่า กสทช.ชุดนี้ รักษาการมายาวนานจนมากเกินไป ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ และหากต้องทำหน้าที่ต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ  

สถานการณ์ตอนนี้ ประชาชนได้แต่ฝากความหวังว่าสมาชิกวุฒิสภา จะคำนึงถึงศักดิ์ศรีของวุฒิสภา โดยการรับร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับของกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา ซึ่ง ส.ว.ชุดนี้แหละครับ เป็นผู้แต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบแก้ไขปรับปรุงร่างของ ส.ส.  

แต่หากบรรดา ส.ว.ตัดสินใจทำตามบัญชาของบิ๊กรัฐบาล เพียงเพื่อต้องการล้มการสรรหา กสทช.ชุดนี้ แล้วเปิดทางให้คนใกล้ชิดที่ตกรอบแรกของการสรรหาเข้ามาสมัครใหม่ สังคมจะว่าอย่างไร...

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสทช. ชี้ ‘อินเทอร์เน็ตดาวเทียมต่างชาติ' ต้องได้รับอนุญาตก่อนให้บริการ