บิ๊ก สสว.แนะเอสเอ็มอีไทย ใช้บันได5ขั้นฝ่าวิกฤติโควิด

05 ก.พ. 2564 | 09:15 น.

ประธานบอร์ด สสว. แนะเอสเอ็มอีเดินตาม 3 แนวทาง “อยู่ให้รอด อยู่ให้เป็น อยู่ให้ยาว” พร้อมใช้บันได 5 ขั้นฝ่าวิกฤติโควิด-19 ปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคกับวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่  

 

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จากเกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั่วโลก ขณะที่หลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว ก็ยังต้องรอว่าจะได้ผลหรือไม่ ซึ่งกว่าคนทั่วโลกจะเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึงคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยภาพรวม 2 ปีจากนี้ยังไม่แน่ชัดว่าสถานการณ์จะจบลงได้

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหาร (บอร์ด) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) จะต้องประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ และต้องดำเนินการตาม 3 แนวทาง ได้แก่ ทำอย่างไรให้อยู่รอด อยู่ให้เป็น และอยู่ให้ได้ยาวในสถาน การณ์ที่ยังไม่รู้จุดสิ้นสุด มงคล ลีลาธรรม

สำหรับการ “ทำอย่างไรให้อยู่รอด” นั้น ในความหมายคือ ปัจจุบันผู้ประกอบการต่างก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้หายไปแบบทันทีทันใด ปัญหาที่เกิดขึ้นตามคือ เรื่องของสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องเร่งดำเนินการเข้าหาสถาบันการเงิน เพื่อขอรับมาตรการในการช่วยเหลือ 

“ผู้ประกอบการต้องสำรวจตนเองว่ามีสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงินใด เป็นหนี้สถานะไหน หลังจากนั้นยืนยันแสดงตัวตนกับสถาบันการเงิน เพื่อขอรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการขอผ่อนชำระเฉพาะเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถเดินต่อไปได้” 

นอกจากนี้ ต้องมาสำรวจดูว่ารายได้เหลืออยู่เท่าไร เพื่อนำมาปรับรายจ่ายให้มีความสอดคล้องกัน โดยผู้ประกอบการหลายรายที่ทำกิจการหลายสาขา หรือทำหลายอย่าง ก็ต้องมาทบทวนดูว่าอะไรที่ไม่มีกำไร หรืออะไรที่ถูกกระทบมากที่สุดก็อาจต้องเลิกไป เรื่องดังกล่าวนี้ต้องตัดสินใจให้ไว และปรับตัวให้เร็ว 

ส่วน “อยู่ให้เป็น” ในความหมายของข้อนี้ต้องการให้ผู้ประกอบการมีบันได 5 ขั้น โดยในสถานการณ์ปัจจุบันต้องไปสังเกตดูว่า มีธุรกิจอะไรที่ยังสามารถไปได้ โดยที่เห็นได้ชัดเจนคือ ตลาดภายในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศจำนวนไม่น้อยยังมีอำนาจในการใช้จ่ายอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องสร้างความพร้อมเข้าสู่พฤติกรรมใหม่ (New Normal) ของลูกค้า  

หลังจากนั้นก็มาใช้บันไดอีก 4 ขั้นที่เหลือ ประกอบด้วย ความสามารถในการแข่งขัน คือ การสร้างความแตกต่างที่โดดเด่น หลายคนต้องเลิกทำงานประจำ และหันมาทำอาชีพค้าขาย โดยนำสูตรจากบรรพบุรุษมาปรับใช้จนได้สูตรอาหารรสชาติดี พร้อมขาย ขั้นตอนต่อไปคือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ปัจจุบันได้เข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลที่เรียกว่า อี-คอมเมิร์ซ หรืออี-มาร์เก็ตเพลส ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน  

นอกจากนี้ การบอกเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ก็จะยิ่งช่วยสร้างความโดดเด่น และความแตกต่าง การออกแบบหรือดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้ดีก็ยิ่งช่วยส่งเสริมให้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นทางการตลาด การตั้งราคาขายให้เหมาะสม และการมีใบรับรอง ที่สำคัญยิ่งลูกค้ามีการบอกต่อกันไป ก็จะเกิดการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

“ความทันสมัย การบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ การออกแบบ  การได้รับการรับรอง และออนไลน์ คือบันได 5 ขั้นสร้างความพร้อมเข้าสู่พฤติกรรมใหม่ของลูกค้า  หลายคนเปลี่ยนได้เร็วก็อยู่ได้ และอยู่เป็นในสถานการณ์ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิดเกิดขึ้นรอบ 3 หรือ 4 อีกหรือไม่” 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564