“วัคซีน-คลายล็อก” ปลุกค้าปลีก Q1 ฟื้น

08 ก.พ. 2564 | 03:10 น.

ชี้ปัจจัยบวก “วัคซีน- คลายล็อกดาวน์” กระตุ้นดัชนีค้าปลีกไตรมาส 1/2564 ฟื้น หลังโควิด ระลอกใหม่ ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคชะงักลดลงตํ่าสุดในรอบ 9 เดือน “ทัวริสต์ มอลล์” ลุ้นขยับตัวดีขึ้น ทราฟฟิกรีเทิร์นเกือบ 50% 

แม้สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จะคาดการณ์ว่า สถานการณ์การค้าปลีกค้าส่งใน 6 เดือนแรกของปี 2564 มีแนวโน้มและทิศทางเดียวกับ 6 เดือนหลังของปี 2563 คือ การปรับตัวดีขึ้นตามลำดับจากมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายของภาครัฐ แต่การแพร่ระบาดของโควิด ระลอกใหม่ในปลายเดือนธ.ค. 2563 จนถึงปัจจุบันนอกจากจะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมชะงักงันไป ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างหนัก

เห็นได้จากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2564 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ผลสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 47.8 จาก 50.1 ในเดือนธันวาคม 2563 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และปรับตัวลดลงตํ่าสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563

อย่างไรก็ดีในอีกด้านพบว่าผู้บริโภคระดับบนยังคงมีกำลังซื้อสูง เห็นได้จากตัวเลขยอดขายสินค้าในหลายหมวดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ Luxury Goods สาเหตุมาจากการปิดกั้นการเดินทางระหว่างประเทศ  นอกจากนี้ยังมี สินค้าอุปโภคบริโภค ที่พบการเติบโต จากผู้บริโภคที่หันมารับประทานอาหารที่บ้าน, การทำงานที่บ้าน, การเว้นระยะห่างรวมถึงมาตรการคนละครึ่ง

สอดรับกับความคิดเห็นของนายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และเซ็นทรัล วิลเลจ ที่กล่าวว่า เชื่อว่าบรรยากาศการจับจ่ายในไตรมาสแรกของปีนี้จะดีกว่าปี 63 ซึ่งมีหลายปัจจัยที่สนับสนุน ทั้งการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นในบางส่วน บางพื้นที่ ไม่ใช่การล็อกดาวน์ทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคยังออกมาจับจ่ายใช้สอยได้

โดยพบว่า ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในศูนย์กว่า 60-75% จากช่วงเวลาปกติ ขณะที่บางศูนย์เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัจจุบันพบว่ามีทราฟฟิคกลับมาราว 4-5 หมื่นคนต่อวัน จากช่วงเวลาปกติที่มีทราฟฟิคราว 1.2-1.5 แสนคนต่อวัน ขณะที่การให้บริการรูปแบบใหม่ๆ เช่น Chat&Shop, Call & Shop, Click & Collect เป็นต้น จะช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงลูกค้า เพิ่มความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้า อีกทั้งยังตอบโจทย์ภาครัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสด้วย

“เชื่อว่าไตรมาสแรกของปีนี้จะยังคงส่งสัญญาณดี โดยปัจจัยบวกคือ เรื่องของวัคซีนและมาตรการของภาครัฐที่ป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งเชื่อว่าจะค่อยๆ ดีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ หลังภาครัฐประกาศคลายล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ ทำให้ธุรกิจ ร้านค้า กลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ”

ขณะที่นางวิภาดา ดวงรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โดยภาพรวมยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจยังเดินหน้าได้ แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า การแพร่ระบาดของโควิด ระลอกใหม่ ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง แต่ผู้ประกอบการเองก็พยายามหาช่องทางอื่นมาช่วยเสริม เช่น ออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีช่องทางมากขึ้น และช่วยสร้างรายได้ชดเชยกับสาขาที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“ปัจจุบันบิ๊กซีมีสัดส่วนยอดขายจากสาขาที่เน้นกลุ่มทัวริสต์ราว 10% เช่น บิ๊กซี ราชดำริ , พัทยา, ภูเก็ต ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มี ย่อมได้รับผลกระทบ แต่ก็เพิ่มรูปแบบการให้บริการที่หลากหลาย เช่น มินิบิ๊กซี กับบริการดีลิเวอรี ฯลฯ”

อย่างไรก็ดีภาพรวมไตรมาส 1 ปีนี้ อาจจะใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งต้องรอดูในหลายๆอีเว้นต์ เช่น ตรุษจีน ว่าผู้บริโภคจะกลับมาจับจ่ายคึกคักเช่นเดียวกับช่วงไตรมาส 4 ปีก่อนหรือไม่ เพราะขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเหวี่ยงขึ้น เหวี่ยงลง ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น และยังคงเฝ้าดูต่อไป

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,651 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564