‘ความสุข’  แพร่ได้ เหมือน ‘ไวรัส’ (1)

15 ม.ค. 2564 | 22:11 น.

หากมีไวรัสตัวใหม่ชื่อว่า “ความสุข” แพร่ระบาดในเมืองไทย คุณคิดว่า คนไทยจะเป็นอย่างไร

จะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาแล้วปรากฎว่ามีไวรัสตัวใหม่ชื่อ “ความสุข” กำลังระบาดในประเทศไทย ทำให้คนที่อยู่ใกล้กับบุคคลที่มีเชื้อไวรัสความสุขนั้น มีความสุขไปด้วย แล้วเจ้าเชื้อไวรัสนี้ก็สามารถแพร่ระจายไปสู่บุคคลอื่น โดยไม่ต้องสัมผัสกันด้วยซ้ำ หลายคนพออ่านถึงตรงนี้ก็คงคิดว่า ถ้ามีเจ้าเชื้อนี้ก็ดีใช่ไหมล่ะ ถ้าความสุขเกิดขึ้นและติดต่อกันง่ายเช่นนั้น ทุกคนในประเทศไทยคงมีความสุขกันทั่วหน้า และทุกคนบนโลกก็คงยิ้มและครึกครื้นทั้งวันเป็นแน่ ถ้าหากมีเชื้อไวรัสความสุขนี้จริง!

 

แต่อย่าเพิ่งดับฝันตัวเองไป เพราะสิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะนำมาพูดถึงคือ มุมมองที่ผู้เขียนมีต่อ “ความสุข” ในเชิงจิตวิทยาว่า ความสุขนั้นก็สามารถแพร่ได้เหมือนกับไวรัส COVID-19 ที่เรารู้จักกัน ถ้าให้เทียบก็คงเป็นเหมือนโลกคู่ขนานทางจิตใจ ที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับโรคทางกาย เพียงแต่เราอาจไม่เคยนึกถึง

 

‘ความสุข’   แพร่ได้ เหมือน ‘ไวรัส’ (1)

 

นักจิตวิทยามีมุมมองเรื่องความสุขว่า “ความสุขเป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ทางบวก และความพึงพอใจในชีวิตของบุคคล รวมถึงลักษณะเฉพาะด้านบวกภายในตัวบุคคล ซึ่งสร้างให้เกิดความสุข” นั่นหมายความว่า หากเรามีความสุขแปลว่าเรากำลังมีอารมณ์ทางบวก และมีความพึงพอใจในชีวิต เป็นภาพใหญ่ที่เราจะประเมินจากคุณภาพชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมาของเรา ผู้เขียนเคยได้ยินคำกล่าวว่า มนุษย์นั้นไม่ได้เลือกการกระทำจากการพิจารณาว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด แต่จะเลือกตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ จากความรู้สึกและความพึงพอใจ

ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชื่อดังได้กล่าวถึงการมุ่งแสวงหาความพึงพอใจ (Pleasure Seeking Principle) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เรียกว่า อิด (Id) ซึ่งเป็นเบื้องหลังของพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ถูกกลั่นกรองความสมเหตุสมผลด้วย อีโก้ (Ego) และ ซูเปอร์อีโก้ (Superego) ตามลำดับ อ่านถึงตรงนี้แล้วเราฟันธงได้เลยว่า มนุษย์เราเกิดมาเพื่อต้องการมี “ความสุข” ถึงแม้เราจะทุกข์บ้างด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอารมณ์ทางลบ หรือความไม่พึงพอใจ แต่สุดท้ายเราจะพยายามหาหนทางกลับมาสู่เส้นทางแห่งความสุขอยู่ดี

 

แล้ว “ความสุข” กับ “ไวรัส” เหมือนกันอย่างไร จริงๆ แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย เริ่มตั้งแต่ลักษณะภายนอก ไวรัสมีตัวตนเป็นรูปธรรม แม้มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เราสามารถเห็นและรับรู้ผลกระทบจากไวรัสได้ ส่วนความสุขเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ แต่ความสุขกลับรู้สึกได้ เมื่อได้ทำสิ่งที่พึงพอใจทั้งกับตนเองและผู้อื่น แม้ลักษณะจะต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองคือ การแพร่กระจาย (Transmission) นั่นเอง หรือถ้าเป็นในมุมของความสุข ที่เราคุ้นหูกันมากๆ ก็คือ “การส่งต่อความสุข”

 

 

การแพร่กระจายเป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้อธิบายถึงกลไกการแพร่เชื้อที่จะเกิดขึ้นจากคนสู่คน ผ่านตัวกลางต่างๆ ทั้งการสัมผัส (Contact Transmission) การฟุ้งกระจายไปกับฝอยละอองทั้งขนาดใหญ่และเล็กกว่า 5 ไมครอน (Droplet and Airborne Transmission) ซึ่งผลลัพธ์ของการแพร่กระจายก็คือ การติดต่อกันเป็นวงกว้างทำให้คนปกตินั้นสามารถติดเชื้อได้ ส่วน “ความสุข” ในทางจิตวิทยาไม่ได้ส่งต่อด้วยการแพร่กระจาย (Transmission) แบบเชื้อโรคหรือไวรัส เพราะความสุขไม่สามารถติดต่อผ่านการไอจามหรือฝอยละอองในอากาศ “การแพร่สุข” ต้องอาศัยความตั้งใจ ความปรารถนาที่จะทำให้ผู้อื่นได้รับสุขจากเรา หรือที่เรียกว่า “ความเมตตา” ผ่านกลไกของการส่งต่อความสุขด้วยความตั้งใจดี 

(อ่านต่อฉบับหน้า) 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“การเลือก” วิธีสร้างสุข ของมนุษย์งาน      

วิถีใหม่ของสื่อทีวี กับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค (จบ)

วิถีใหม่ของสื่อทีวี กับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค (1)    

อย่ามองข้าม!  สื่อวิทยุสร้างความสำเร็จได้  แม้ในช่วงวิกฤติ (จบ)    

อย่ามองข้าม! สื่อวิทยุสร้างความสำเร็จได้ แม้ในช่วงวิกฤติ (1)