เชียงใหม่เร่ง‘อัดซอฟต์โลน-ฟื้นฟู’

09 ม.ค. 2564 | 10:40 น.

ประธานหอการค้าเชียงใหม่ ชี้พิษโควิดรอบใหม่ ทำเสียโอกาสท่องเที่ยวท้ายปี 2,000 ล้านบาท ห่วงคนจิตตกทำหมดอารมณ์ท่องเที่ยว แต่ยังมั่นใจบางอุตสาหกรรมยังประคองตัวไปต่อได้  

นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท รีเกิล แอสเสท จำกัด เจ้าของโครงการ “เดอะพรอมิเน้นซ์” เปิดเผยว่า ปกติเชียงใหม่ช่วงไฮซีซั่นส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะมีนักท่องเที่ยวภายในประเทศมาจับจ่ายเฉลี่ยวันละ 200 ล้านบาท หรือเดือนละ 6,000 ล้านบาท แต่ปีนี้เจาะสถานการณ์โควิด-19 คนไม่กล้าเดินทาง ยกเลิกไปพอสมควรโดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์หรือแบบครอบครัว ทำให้ฉลองปีใหม่ปีนี้ไม่ถึงกับเหงา แต่ก็ไม่ค่อยคึกคักนัก การใช้จ่ายลดลงประมาณ 1 ใน 3 เหลือเพียงประมาณ 4,000 ล้านบาท

วโรดม ปิฏกานนท์

 

แนวโน้มยิ่งต้องจับตาเพราะยังน่าห่วงอยู่ แม้ผู้ติดเชื้อที่เชียงใหม่ยังมีเพียง 2-3 ราย เราคุมได้ แต่ข่าวการระบาดที่เพิ่มขึ้นและแพร่ไปทั่ว ทำให้จังหวัดต่างๆ เวลานี้เริ่มมีการล็อกดาวน์กันมากขึ้น พื้นที่ควบคุมสูงสุดเช่นกรุงเทพฯ ก็ให้ปิดสถานประกอบการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผับ บาร์ โรงหนัง ลดเวลาร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า รวมถึงบางพื้นที่ เช่น จังหวัดน่าน ออกประกาศให้ผู้เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดต้องกักตัว 14 วัน ก็ทำให้มีการยกเลิกจองที่พักที่น่านไปพอเยอะสมควร แม้บางจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยวยังไม่มีข้อจำกัดตรงนี้ แต่ผลทางจิตวิทยาทำให้คนไม่อยากเดินทางไปไหนกันแล้ว

 

ธุรกิจโรงแรมกับการท่องเที่ยวโดนผลกระทบโดยตรง ส่วนการลงทุนใหม่อื่นยังไม่ถึงกับชะงัก เพียงแต่ผู้ลงทุนอาจชะลอการตัดสินไปก่อน อาทิ โครงการบ้านจัดสรรใหม่ยังพอมี ของบริษัทเองก็วางแผนจะเปิดโครงการใหม่ปีนี้ในอีก 2-3 เดือน เพราะยังพอขายได้ โดยกลุ่มลูกค้าก็เป็นคนพื้นที่ในเชียงใหม่เอง หรือคนต่างจังหวัดแต่หาซื้อที่พักในเชียงใหม่ เป็นครอบครัวใหม่ หรือซื้อให้ลูกที่มาเรียนหนังสือ หรือย้ายมาทำงาน จึงยังพอเดินไปได้อยู่ โครงการคอนโดมิเนียมในทำเลที่ดีก็ยังขายได้เรื่อยๆ

โดยโครงการที่จะลงทุนเปิดตัวปีนี้ตั้งซอยชมจันทร์ แถวแยกเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต พื้นที่ 9 ไร่ ลงทุน 250 ล้านบาท เป็นที่พักอาศัยประเภทบ้านแฝด บ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม จำนวน 52 ยูนิต ราคายูนิตละประมาณ 3-6 ล้านบาท น่าจะขายได้อยู่เพราะอยู่โซนในเมือง

 

นายวโรดมกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสัญญาณดีท้ายปีคือ แบงก์ชาติคลาย เกณฑ์ซอฟต์โลน เพิ่มเติม เพื่อให้ SMEs เข้าหาซอฟต์โลนได้ง่ายขึ้น จากวงเงิน 500,000 ล้านบาท ปล่อยได้แค่ประมาณ 1.2 แสนล้านบาทเท่านั้น เหลืออีก 3.8 ล้านบาท พอต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาพอผ่อนปรนเงื่อนไขก็เบิกเงินได้ หวังว่าธนาคารต่างๆ จะปล่อยซอฟต์โลนให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินมาใช้หมุนเวียนประคองธุรกิจได้มากขึ้น

“ความหวังของเราอยู่ที่ ซอฟต์โลนของแบงก์ชาติ ถ้าผ่อนคลายมากขึ้นแล้วแบงก์ปล่อยง่ายขึ้นแล้วเม็ดเงินสามารถไหลออกมาเข้ามารวมระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เงินก็จะหมุนมาจุนเจือในระบบเศรษฐกิจประเทศไทยได้”

 

อีกประการอยากให้รัฐบาลเร่งใช้งบพื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ที่อนุมัติใช้ไปเพียง 2,800 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากอยากให้รัฐบาลเร่งอัดฉีดเงินส่วนนี้เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้เกิดความเคลื่อนไหว ในภาวะที่ช่วงนี้ธุรกิจไม่ดี ทุกคนต้องการเงินมาประคองตัวเอง ช่วยให้ภาคธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียนให้ประคองตัวไปให้ได้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกร.ชี้โควิด-19ยังพ่นพิษ ทำส่งออกไตรมาสแรกไม่ฟื้น

ร้านอาหารโดนโควิด สูญ 1.5 หมื่นล.

“กกร.”ปรับคาดการณ์จีดีพี 64 ลงเหลือ 1.5-3.5% จากปัญหาติดเชื้อโควิด

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564