ปี‘โคขวิด’ พายุศก.กระหน่ำ

01 ม.ค. 2564 | 07:07 น.

เอกชนมั่นใจ ปี 64 เศรษฐกิจไทย ยังเดินได้ต่อ แม้โควิดระบาดรอบ 2 เชื่อฉีดวัคซีนได้กลางปี ส่งผลมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยช่วงครึ่งหลัง ดันจีดีพีขยายตัว 3-5% ส่งออกกลับมาโตได้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ฐานเศรษฐกิจ”ได้สำรวจความคิดเห็นของซีอีบรรดาโอต่างๆ ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ และการรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปี 2564 ไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่การผลิตวัคซีนและการฉีดวัคซีนยังไม่สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มได้อย่างแพร่หลาย ซึ่งจะเป็นเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หากวัคซีนมาเร็วช่วงกลางปี 2564 จะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีกว่าปี 2563

ขณะที่โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ ยังเป็นเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่จะต้องจัดสรรงบประมาณให้มีไว้อย่างเพียงพอ เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป

 

ปีแห่งพายุหมุน

นายพยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ปีหน้าจะเป็นปีแห่งพายุหมุนหรือ Perfect Storm ที่ยังมีความเสี่ยง ไม่ว่า ปัญหาสภาพคล่อง แม้ไทยจะได้มีปัญหาเรื่องนี้ เพียงแต่ต้องกระจายสภาพคล่องไปให้ถึงผู้ประกอบการที่ต้องการจริงๆ เพื่อต่ออายุให้สามารถกลับมาพักฟื้นหรือแข็งแรงได้ ขณะเดียวธนาคารต้องดูแลตัวเอง เสริมความแข็งแกร่งของเงินกองทุน เพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจจะด้อยค่าลงในอนาคต และต้องหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆด้วย

ดังนั้นในการฝ่าพายุทั้งคุณภาพสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้น จากคนจะตกงานมากขึ้น รายได้ลดลง จึงต้องจัดสรรทรัพยากรบุคคลของธนาคารให้เหมาะสม โดยให้ติดต่อลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือได้ตรงจุด และธนาคารต้องทยอยตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ที่จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การกลับมาระบาดรรอบใหม่ของโควิด-19 เชื่อว่า จะสามารถแยกแยะคุณภาพสินเชื่อได้ทันและเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีกลไกอยู่ แม้ว่าทรัพยากรของรัฐจะมีจำกัด โดยในส่วนของธนาคารเองคงกระตุ้นให้พนักงานทำงานที่บ้านหรือ WFH เพิ่มเป็น 60% จากก่อนหน้าทำมาแล้ว 40%

สำหรับผลประกอบการของธนาคารนั้น แนวโน้มจะลดลงอยู่แล้ว เพราะธนาคารยังต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เนื่องจากมาตรการที่ธปท.ให้ธนาคารปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะครบในสิ้นปี 2564 และหนี้เสียที่มีโอกาสจะเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่า จะนำไปสู่การแข่งขันหรือแย่งลูกค้า เพระมีลูกหนี้รายใหม่เพิ่มขึ้นน้อย ซึ่งจะยังกดดันธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต่อไป ปี‘โคขวิด’  พายุศก.กระหน่ำ

 

เอกชนมั่นใจศก.ฟื้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) มองว่าปี 2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงลำดับต้น ๆโดยเฉพาะในช่วงของครึ่งปีแรก เนื่องจากวัคซีนที่ผลิตคาดว่าจะได้รับรองผลที่ชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังมีโอกาสของการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังส่งผลให้หนี้นอกระบบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ประสบกับปัญหา การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง ปิดกิจการ รวมทั้งการปลดแรงงาน

อีกทั้งสถานการณ์การส่งออกที่ยังฟื้นไม่เต็มที่จากผลกระทบโควิด-19 และผู้ส่งออกยังต้องเผชิญกับปัญหาในเรื่องของค่าเงินบาทที่คาดว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกันยังเกิดปัญหาเรื่องของตู้คอนเทนเนอร์ขาด ทำให้ผู้ส่งออกส่งมอบสินค้าไม่ทันตามกำหนดได้ นอกจากนี้ยังมีความกังวลถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค นักลงทุน ส่วนปัจจัยภายนอกที่ต้องจับตาคือนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความชัดเจนในการทำสงครามการค้ากับจีนต่อเนื่องหรือไม่

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวจากสถานการณ์ โควิด-19 หลังจากได้รับวัคซีนในช่วงครึ่งหลังของปี และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติ อาทิ เช่น การขนย้ายคน การขนย้ายสินค้าต่างๆ ขณะที่แนวนโนบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และการที่สหรัฐอเมริกา ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ จะทำให้การค้าโลกและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักธุรกิจส่วนใหญ่ มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าจะต้องเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน หากพิจารณาจากปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ในปี 2564 ธุรกิจน่าจะมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีการฟื้นตัว รวมทั้งโอกาสของการเปิดประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย

 

คาดจีดีพีโตได้ 3-5%

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะดีกว่าปีที่ผ่านมา น่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 3-5% จากการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ น่าจะเริ่มฉีดวัคซีนได้แล้ว ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564

ขณะที่ภาคการส่งออก เวลานี้ต่างชาติมีความต้องการสินค้าจากไทยค่อนข้างมาก เพราะมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้คือ เงินบาทแข็งค่ายังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ส่งออก รวมถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าส่งออก แต่คาดว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมเป็นต้นไปสถานการณ์น่าจะดีขึ้น

ส่วนแนวโน้มด้านการลงทุน เชื่อว่าการออกออกแพ็กเกจใหม่ในการกระตุ้นการลงทุนของบีโอไอ น่ารวมถึงการแก้ไขกฎหมายภายในเพื่อแก้ปัญหาให้ภาคธุรกิจทำธุรกิจในไทยได้ง่ายขึ้น (Ease of doing Business)ก็จะช่วยจูงใจการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ที่สำคัญภาครัฐก็ต้องผลักดันการใช้งบให้ได้ตามเป้าหมายจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมา

 

จี้รัฐคุมเข้มโควิดรอบใหม่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่เกิดขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปี 2564 น่าจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ที่ 3% จากปี 2563 ที่คาดจะติดลบ 6-7% ส่วนการส่งออกน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ที่ 3-5% จากปี 2563 คาดติดลบ 7-8%

มีปัจจัยจากกระแสการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดที่หลายประเทศเริ่มมีการฉีดให้กับประชาชน ซึ่งหากมีการกระจายไปทั่วโลกรวมถึงไทย สถานการณ์ก็น่าจะคลี่คลายลง

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในเวลานี้คือ การออกมาตรการที่เข้มงวดในการล็อกดาวน์พื้นที่ที่เกิดปัญหา หรือมีผู้ติดเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมถึงอยากให้เข้มงวดขบวนการลักลอบขนแรงงานเถื่อนเป็นพิเศษ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการนำเชื้อโควิดเข้ามาในประเทศ


ปี‘โคขวิด’  พายุศก.กระหน่ำ

เร่งปรับตัวรับมือนิวนอร์มอล

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า การส่งออกในปี 2564 น่าจะขยายตัวได้ 3-5% จากเศรษฐกิจของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่วิกฤติโควิค-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกตลอดปี 2563 เศรษฐกิจโลก ห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานจะเปลี่ยนไปสู่ Regionalization หรือการรวมกลุ่มระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ขณะเดียวกันแนวโน้มสภาพเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกจะปรับเปลี่ยนจาก Globalization ที่ชาติตะวันตกและอเมริกา เคยมีบทบาสำคัญในการกำหนดรูปแบบการค้าโลก แต่ปัจจุบันโรคระบาดทำให้เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หรือ Deglobalization โดยประเทศในแถบเอเชียจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ ความผันผวนของตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ

“ปี 2564 จะเป็นปีของการพัฒนาธุรกิจไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำหรับการวางแผนธุรกิจและการลงทุนในรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มวัย รูปแบบการค้า การผลิต การขาย การบริการ ลงทุน จะเปลี่ยนไปตามบริบทที่เรียกว่า New normal ซึ่งปี 2564 จะเป็นปีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก”

นายโทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัว แต่กระแสการตอบรับในปิกอัพอีซูซุยังคงเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าปี 2564 ยังอยู่ในภาวะยากลำบาก เพราะโควิดไม่ได้หายไปไหน ขณะที่เศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งยังขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว คงต้องดูว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาไหม และวัคซีนจะนำมาใช้ได้เมื่อไหร่ สำหรับตลาดรถยนต์คาดว่าจะดีขึ้นเล็กน้อย ด้วยยอดขายกว่า 8 แสนคัน

 

ท่องเที่ยว“วัคซีน”เป็นคำตอบ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) กล่าวถึงแนวโน้มของธุรกิจท่องเที่ยวในปี 2564 ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวยังคงอยู่ในสภาวะทรงตัว ยังไม่เห็นภาพของการฟื้นตัว เพราะรัฐบาลมีแนวโน้มชะลอการเปิดรับนักท่องเที่ยวออกไป ซึ่งต้องรอดูหลังไตรมาสแรกปีนี้เป็นต้นไป อีกทั้ง การผลิตหรือฉีดวัคซีน ทั่วโลก จะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะหากมีการฉีดวัคซีนได้จริง จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และ ปลดล็อกให้ต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนการเดินทางเที่ยวในประเทศ ยังเป็นหัวใจสำคัญที่รัฐต้องออกมาผลักดันเพิ่มขึ้น ต้องมุ่งเน้นไปที่กลุ่มข้าราชการ มากกว่าเอกชน ประกาศวันหยุดราชการเพิ่มขึ้น เพิ่มวันหยุดราชการประจำภูมิภาค ให้ข้าราชการเดินทางไปเที่ยว เพราะที่ผ่านมาในทุกวันหยุด จะเกิดการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกเทศกาล

ส่วนภาคธุรกิจที่ปิดให้บริการไปก่อนแล้ว อาจจะยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ เพราะต้องรอการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ขณะที่ธุรกิจที่ยังเปิดให้บริการอยู่ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะในปี 2564 ลูกค้ายังมีน้อย มีดีมานต์ของตลาดไม่ถึง 50% ต้องดูว่าจะบริหารองค์กรอย่างไร ให้ขับเคลื่อนต่อไปได้

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,641 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2564