หมอธีระแนะตัดวงจรระบาดโควิด

01 ม.ค. 2564 | 01:34 น.

‘หมอธีระ’แนะ ตัดวงจรระบาด‘โควิด’ 3 ข้อ‘ต้องมี’รับมือ-เจ็บตัวน้อย 2 ข้อ‘ต้องทำ’

 

 

 

 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์ “โควิด-19” ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ถึง สถานการณ์ทั่วโลก (วันนี้) วันที่1 มกราคม 2564ว่า เมื่อวันที่31 ธันวาคม 2563ที่ผ่านมา ทั่วโลกติดเชื้อไวรัสโควิดเพิ่ม 742,509 คน รวม ล่าสุดในขณะนี้ 83,730,790 คน ตายเพิ่มอีก 13,868 คน ยอดตายรวม 1,823,806 คน อเมริกา เมื่อ วันที่ 31ธันวาคม2563 ติดเชื้อเพิ่ม 232,229 คน รวม 20,403,834 คน ตายเพิ่มอีกถึง 3,516 คน ยอดตายรวม 353,459 คน อินเดีย ติดเพิ่ม 19,046 คน รวม 10,286,329 คนขณะบราซิล ติดเพิ่มถึง 55,773 คน รวม 7,675,973 คนรัสเซีย ติดเพิ่ม 27,747 คน รวม 3,159,297 คนฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 19,927 คน รวม 2,620,425 คนอันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักหมื่นต่อวัน

 

 

 

เมื่อวานนี้สหราชอาณาจักรติดเชื้อเพิ่มเกินห้าหมื่นคนติดต่อกันเป็นวันที่สาม 55,892 คน สิ่งที่เค้าน่าจะวิตกกันมาก คือ จำนวนการติดเชื้อที่มากเช่นนี้ ในไม่ช้าจะเกินกำลังของระบบสุขภาพที่จะดูแล และอาจทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น ตอนนี้อยู่ที่ 3%

ฝั่งอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น

แถบสแกนดิเนเวีย รอบทะเลบอลติก และแถบยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

เมียนมาร์ และเกาหลีใต้ ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

...สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 890 คน ตายเพิ่มอีก 18 คน ตอนนี้ยอดรวม 124,630 คน ตายไป 2,682 คน อัตราตายตอนนี้ 2.1%

ภาพรวมของวันส่งท้ายปี เข้าสู่ปีใหม่ ทั่วโลกยังมีการติดเชื้อรุนแรง

ผลของการฉีดวัคซีนนั้น ยังไม่สามารถคาดหวังได้ในช่วงนี้ คาดว่าพอจะเริ่มเห็นผลได้บ้างในบางประเทศที่มีจำนวนการฉีดมากในช่วงเดือนมีนาคมเป็นอย่างเร็ว โอกาสที่เศรษฐกิจบางทวีปจะเริ่มฟื้นตัวได้น่าจะเป็นช่วงไตรมาสสามของปี

แต่การระบาดของโรคจะยังคงกระแทกประเทศต่างๆ เป็นระลอกตลอดทั้งปีนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะรับมือได้หรือไม่

การจะรับมือได้ เจ็บตัวน้อย ต้องมี 3 เรื่องนี้

หนึ่ง หากเริ่มเห็นเคสติดเชื้อจะนำไปสู่การระบาดซ้ำ ต้องเข้มข้นตั้งแต่ต้น ไม่เงื้อง่าราคาแพง

สอง ระบบการตรวจคัดกรองโรคต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถตรวจได้จำนวนมากเพียงพอ สำหรับไทยนั้นควรมีศักยภาพตรวจได้อย่างน้อย 400,000 ตัวอย่างต่อวัน หรือ 2 ครั้งต่อคนต่อปี

สาม ประชาชนควรมีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างเป็นกิจวัตร ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร และหมั่นสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย รีบไปตรวจโดยเร็ว

ณ วินาทีนี้ ไทยอยู่ในภาวะการระบาดซ้ำที่รุนแรงชัดเจน ตามข้อมูลวิชาการแล้ว ศึกนี้จะรุนแรงกว่าเดิมและนานกว่าระลอกแรก โดยประมาณการว่าจะติดเชื้อกันราว 23,000-33,000 คน จำนวนติดเชื้อสูงสุดต่อวันอาจถึง 940 คนต่อวัน และต้องสู้นานประมาณ 88 วัน

การระบาดจะรุนแรงน้อยลง ใช้เวลาสั้นลงได้ หากเราช่วยกันตัดวงจรการระบาด โอกาสชนะมี 12% ตามที่ทบทวนบทเรียนของต่างประเทศที่มีการระบาดซ้ำ แม้จะน้อยแต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นกับการตัดสินใจว่าจะสู้หรือไม่ และเงื่อนเวลาที่ทำว่าทันเวลาหรือไม่

ถามว่าต้องทำอย่างไรบ้าง?

1.โรคนี้จะแพร่กันได้เร็ว ไม่ใช่เพราะแค่เชื้อกลายพันธุ์จนมีสมรรถนะมากขึ้นเท่านั้น แต่ปัจจัยสำคัญอยู่ที่พฤติกรรมของคน จะป้องกันการแพร่เชื้อรับเชื้อในยามที่มีการติดเชื้อจำนวนมากในสังคม ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการที่ต้องพบปะกันน้อยลง ใช้เวลาเจอกันสั้นลง พบเจอกันต้องใส่หน้ากากเสมอ ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกัน หลังจับต้องสิ่งของสาธารณะทุกครั้งต้องล้างมือ ไม่ไปอยู่ในที่แออัด ที่ที่ระบายอากาศไม่ดี

2.มาตรการรัฐจำเป็นต้องทำให้การไปมาหาสู่ของประชาชนลดลงให้ได้ อย่างน้อยต้องนานพอที่จะตัดวงจรการระบาด 4 สัปดาห์

เงื่อนเวลาในการตัดสินใจให้ทันเวลาคือช่วงต้นสัปดาห์หน้า เพื่อไม่ให้กลางมกราคมมีจำนวนการติดเชื้อที่สูงเกินกว่าจะรับมือได้

อย่างไรก็ตาม ต้องทราบว่าผลการตอบสนองของมาตรการในการระบาดซ้ำนี้จะน้อยกว่าระลอกแรก เพราะจำนวนติดเชื้อพื้นฐานที่มีอยู่นั้นสูงกว่าเดิมมาก ดังนั้นแม้ทั้งรัฐและประชาชนจะดำเนินการเต็มที่ ระลอกสองนี้ก็จะลดความสูงของคลื่นระบาดลงและสั้นลง แต่ไม่ใช่จู่ๆ จะเสร็จสิ้นได้เร็วแบบเดิม

 

หาก "กด" การระบาดลงมาได้ไม่ดี เช่น อยู่ในระดับหลักหลายสิบ หรือร้อยต่อวัน ระดับการติดเชื้อพื้นฐานต่อวันนั้นจะเป็นตัวทำนายความรุนแรงของระลอกถัดไปในอนาคต ยิ่งมีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูง ระลอกถัดไปจะมีโอกาสแรงมากขึ้นตามลำดับวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เมื่อวานนี้ หลายคนช่วยกันอยู่บ้าน แต่หลายคนก็โต๋เต๋ข้างนอก หากบางที่มีคนมาก แออัด แม้จะใส่หน้ากาก ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้ หรือการไปบ่อนไก่ตามที่แชร์ในโซเชียล ก็ย่อมเป็นความเสี่ยงต่อการระบาดเช่นกัน โดยเราจะเห็นจำนวนการติดเชื้อเพิ่มได้ใน 1-2 สัปดาห์ถัดจากนี้

 

 

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับประชาชนที่อาจไปสัมผัสความเสี่ยงข้างนอกบ้านมา ขอให้สังเกตอาการนะครับ หากเริ่มมีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรือท้องเสีย ขอให้รีบไปตรวจโควิด จะช่วยป้องกันการแพร่ไปยังคนอื่นในสังคมได้