ภาคธนาคารฝุ่นยังตลบ หนี้เสียพุ่ง รายได้ลด 

01 ม.ค. 2564 | 00:25 น.

ธนาคารพาณิชย์ น่าจะเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาคท่องเที่ยว เพราะเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากคุณภาพหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกทอดหนึ่ง

เริ่มจากต้นปี 2563 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมรับมือกับกติกาและมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจธุรกิจธนาคารในปี 2563 แต่ล่วงมาเพียงเดือนเศษ ทุกธนาคารต้องแตะเบรกทันที หลังมีการระบาดของโควิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2563  จากนั้นภาพจำเชิงลบก็ถาโถมเข้าใส่ จนแทบจะไม่ต้องใช้แผนธุรกิจที่เตรียมไว้จากปีก่อน เพราะทุกคนต้องเดินหน้าเชิงรุกในการดูแลลูกค้าเพื่อไม่ให้ตกชั้น จนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องออกเกณฑ์ผ่อนปรนมาตรการจัดชั้นคุณภาพหนี้ควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งพักชำระหนี้ ยืดเวลาและปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเอื้อให้ธนาคารในระบบสามารถปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อที่จะประคองลูกหนี้ในภาวะดังกล่าว 

 

เวลาไล่เลี่ยกันธนาคารไทยพาณิชย์ได้คำสั่งจากธปท.ให้จัดทำนโยบายทดสอบภาวะวิกฤตหรือ stress test โดยจัดทำนโยบายบริหารจัดการระดับเงินกองทุน สำหรับระยะเวลา 3 ปี(63-65) เพื่อเป็นการทดสอบความแข็งแกร่งและความเพียงพอของเงินกองทุนที่จะรองรับความเสี่ยงในภาวะวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้น หรืออีกนัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ระบบสถาบันการเงินของไทยมีเงินกองทุนและสภาพคล่องอย่างเพียงพอ

 

พร้อมๆกับที่ธปท.ออกหนังสือเวียนห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากผลดำเนินงานปี 2563 และห้ามซื้อหุ้นคืน เพื่อเก็บสภาพคล่องไว้รองรับกับเหตุที่คาดไม่ถึง ซึ่งคำสั่งดังกล่าวทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถูกลดความน่าสนใจลง โดยสะท้อนจากดัชนีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 25 ธันวาคม 2563 ลดลงถึง 21.60% เมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นไทย ที่ลดลงเพียง 5.92% เท่านั้น 

ภาคธนาคารฝุ่นยังตลบ หนี้เสียพุ่ง รายได้ลด 

แม้ล่าสุดธปท.จะไฟเขียวให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายปันผลประจำปี 2563 ได้เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องมีมาตรการเชิงป้องกัน เพื่อเสริมสร้างเงินกองทุนไว้ จึงให้จ่ายเงินปันผลได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราเดียวกับปี 2562 และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิปี 2563 ต้องไม่เกินอัตราเดียวกับปี 62 และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิปี 2563 หลังผล stress test แข็งแกร่ง รองรับภาวะวิกฤติได้

 

ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อและเงินฝากระบบธนาคารพาณิชย์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินฝากเติบโต 10% โดยมียอดเงินฝากเพิ่ม 1.3 ล้านล้านบาท ส่งผลให้มียอดคงค้างที่ 14.5 ล้านล้านบาท สวนทางสินเชื่อที่ขยายตัว 4% โดยมียอดสินเชื่อเพิ่มเพียง 5 แสนล้านบาท ส่งผลให้มียอดคงค้างทั้งสิ้น 13.2 ล้านล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก(L/D)ไม่รวมตั๋วแลกเงินอยู่ที่ 96.12% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 96.5% 

 

ส่วนคุณภาพสินเชื่อยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ธปท.ระบุว่า ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ(NPL หรือ stage3: กลุ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) อยู่ที่ 5.14 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.14% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ 3.09% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม(stage 2: กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ) อยู่ที่ 7.03% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 7.49% 

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ดำเนินการตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและครบกำหนดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาพบว่า ภาพรวมลูกหนี้ลดลง 1.2 แสนล้านบาทเหลือ 6.6 ล้านล้านบาทจากเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 7.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ 55% และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 45% ในส่วนของธนาคารพาณิชย์เป็นลูกหนี้ธุรกิจ 63% รายย่อย 37% และประเมินลูกหนี้ธุรกิจกลับมาผ่อนชำระได้ 66% ที่เหลือ 32% ต้องปรับโครงสร้างหนี้และเหลือ 2%เป็นลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ยังติดต่อไม่ได้ ส่วนรายย่อย 70% กลับมาชำระได้ตามเงื่อนไขอีก 29%ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และมีเพียง 1% เท่านั้นที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ยังติดตามไม่ได้ 

 

ขณะเดียวกันระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนรวม 2.96 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS ratio)ที่ 19.8% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 7.83 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ(NPL coverage ratio) อยู่ที่ 149.7% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต(LCR) อยู่ที่ 184.9% จากเกณฑ์ขั้นตํ่ากำหนดไว้เพียง 100%

 

ผลพวงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยงด้านตํ่าและความไม่แน่นอนสูงแถมเกิดการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งจะมาซํ้าเติมการฟื้นตัวของ ลูกหนี้ ยังเป็นปัจจัยกดดันภาคธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้คุณภาพลูกหนี้เสื่อมค่าลงเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจจะกระทบกับเงินทุนที่เตรียมไว้ และท้ายที่สุดก็จะกระทบต่ออัตราเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นต่างคาดหวังที่จะได้รับ แม้จะน้อยกว่าปี 2562 ก็ตาม 

 

หน้า 13 หนังสืออพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,640 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 2 มกราคม พ.ศ. 2564