บทความชิ้นสุดท้าย อาลัย “มนูญ ศิริวรรณ” การอุดหนุนพลังงานฟอสซิลกับภาวะโลกร้อน

25 ธ.ค. 2563 | 05:22 น.

คุณมนูญ ศิริวรรณ ในฐานะคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ได้เขียนบทความชิ้นสุดท้ายก่อนจากไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ถือเป็นผลงานอันทรงคุณค่า ที่ขอจารึกไว้สืบไว้

กองบรรณาธิการหนังสือ พิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ขอแสดงความเสียใจต่อครอบ ครัวและขอแสดงความอาลัยกับการสูญเสียคุณมนูญ ศิริวรรณ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิทยาการพลังงาน กระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการ บริษัท การจัดการธุรกิจ จำกัด ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณูปการด้านพลังงานให้กับประเทศมาอย่างยาวนาน และได้ทุ่มเทการทำงานจนถึงวาระสุดท้าย

 

คุณมนูญ ได้เป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง และก่อนที่ท่านจะจากไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 เพียงไม่กี่วันได้ส่งบทความชิ้นสุดท้ายให้กับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นบทความที่ทรงคุณค่า และขอบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ และเพื่อเป็นเสียงสะท้อนในการดำเนินงานด้านนโยบายของกระทรวงพลังงานสืบไป

 

 คุณมนูญ ได้ชี้ให้เห็นว่า มาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้มหรือก๊าซ แอลพีจี ที่จะสิ้นอายุลงในเดือนธันวาคม 2563 นี้ จะได้รับการต่ออายุหรือไม่ ต้องรอให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานหรือกบง. ที่จะประชุมในเดือนนี้พิจารณา เพราะต้องใช้เม็ดเงินอุดหนุนที่สูงขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

 

โดยปัจจุบันได้มีการตรึงราคาแอลพีจีอยู่ที่ 14.37 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยลดราคาลงกิโลกรัมละ 3 บาท เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ 24 มี.ค.-31 ธ.ค. 63 เป็นเวลา 9 เดือน

 

 ด้านนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า กบง. และคณะกรรมการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กำหนดวงเงินดูแลราคาแอลพีจี ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งฐานะล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 63 กองทุนน้ำมันฯดูแลราคาแอลพีจี ติดลบไปแล้ว 8,701 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯคงเหลือสุทธิอยู่เพียง 28,474 ล้านบาท ในขณะที่บัญชีน้ำมันมีฐานะอยู่ที่ 37,175 ล้านบาท

 

โดยในแต่ละเดือนนั้น มีเงินไหลออกราว 1,300 ล้านบาท จากการอุดหนุนราคาแอลพีจีเดือนละเกือบ 500 ล้านบาท และอุดหนุนราคาน้ำมัน (แก๊สโซฮอล E20, E85, ดีเซล B10, B20) อีกเดือนละเกือบ 800 ล้านบาท ซึ่งถ้ากบน.ไม่มีมติเปลี่ยนแปลงก็จะกระทบต่อฐานะของกองทุนน้ำมันฯอย่างแน่นอน

นอกจากเรื่องผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันฯแล้ว นโยบายการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและแอลพีจียังส่งผลกระทบต่อนโยบายสิ่งแวดล้อมโลกและภาวะโลกร้อน ที่ประเทศไทยเข้าร่วมในสัญญากรุงปารีส และมีพันธสัญญาที่จะต้องปฏิบัติตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์อย่างแท้จริง อีกด้วย

 

ล่าสุด นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกลง 45% จากระดับในปีค.ศ. 2010 ให้ได้ภายในปีค.ศ. 2030 เพื่อไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปีค.ศ. 2050

 

หนึ่งในมาตรการที่เลขาธิการ UN เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติคือ ยุติการให้เงินช่วยเหลือและการอุดหนุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นเรื่องการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงในบ้านเราจึงไม่ใช่เรื่องแค่ภาระของกองทุนน้ำมันฯ ภาระของผู้บริโภค หรือนโยบายราคาพลังงานแต่เพียงเท่านั้น

แต่ยังเกี่ยวพันไปกับเรื่องระดับโลกอย่างภาวะโลกร้อนด้วยครับ !!!