มิติใหม่อสังหาฯราคา-แบรนด์ของคู่กัน 

11 ธ.ค. 2563 | 00:42 น.

คอลัมน์ผ่ามุมคิด มิติใหม่ อสังหาฯ ราคา-แบรนด์ของคู่กัน ส่องเกมแข่งปี 64 

 

ทุกวิกฤติ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวครั้งใหญ่ โดยเกิดขึ้นแม้กระทั่งกับตลาดที่ถือเป็นปัจจัย 4 จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อย่าง “ตลาดที่อยู่อาศัย” นั้น ได้กลายเป็นบทเรียน และภูมิต้านทาน ให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯ ในแง่แตกต่างกันออกไป หลังจากส่วนใหญ่ ยังคงสามารถนำพาธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติมาได้ สะท้อนจากตัวเลขผลประกอบการยังเติบโตได้ ขณะการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งปี 2563 น่าหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ราว 10% แต่อย่างไรก็ตาม ภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้ง Disruption Economy (เศรษฐกิจสะดุดหยุดชะงัก และเปลี่ยนรูปแบบอย่างพลิกผัน) รวมถึงพฤติกรรมจาก New Normal

 

ถือเป็นโจทย์สำคัญในการเข็นแบรนด์ให้ยังเป็นตัวเลือกแรกสำหรับผู้บริโภคยุคหินปี 2564  โดยนางสาว สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและวิจัยอสังหาฯ รายใหญ่ ระบุ แม้วิกฤติโควิด 19 ในไทยมีทิศทางดีขึ้น แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ราว 1 ปี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคถึงกลับมา ส่งผลมุมมองการเลือกซื้อเปลี่ยนฉับพลัน โดยแม้ ราคา โปรโมชั่น ดึงดูดใจ แต่ใช้ไม่ได้กับกลุ่มลูกค้าใหม่กลุ่มใหญ่ อย่าง เจน Z (กลุ่มคนเริ่มทำงาน) แนะผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์ เพื่อเป็นตัวเร่งการตัดสินใจซื้อ

ส่องเกมแข่งปี 64 
    คาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2564 ยังคงติดลบอยู่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจหดตัว ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคต่างต้องการประหยัดการใช้จ่าย โดยการซื้อ รถ, บ้าน มักเป็นสินทรัพย์ที่อยากชะลอไว้ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะมองมีมูลค่าสูง  กังวลต่อรายได้ที่ไม่มั่นคง ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าอาจได้เห็น ลภาพของตลาดผ่านผู้ประกอบการทำ “สงครามราคาครั้งใหญ่” สำหรับ Mass Market (ราคาระดับกลาง) เพื่อให้บริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามารองรับความเสี่ยงอื่นๆ โดยทุกแบรนด์ จำเป็นต้องหาจุดยืน ตัวตน ค้นหา ความต้องการที่ซ่อนเร้น (Unmet need) ของกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ที่ตนชำนาญให้เจอ หรือค้นหาทำเลใหม่ๆ เพื่อจับตลาดใหม่ ส่วนการทำกำไร ให้เพิ่มขึ้นให้ได้ ท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย จำเป็นต้องบริหารพอร์ต ควบคุมต้นทุน หรือนำตนเองไปสู่ตลาดที่พรีเมียมขึ้น หลังจากมีการคาดการณ์ว่า หลังวิกฤติตลาดที่จะฟื้นก่อนเป็นอันดับแรก คือ ตลาดระดับบน ที่ลูกค้ามีกำลังซื้อสูง เป็นต้น

 

 

 

แนะรายเล็กสร้างแบรนด์

 

 อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงปีหน้า ผู้ประกอบการต่างมีแนวโน้มเคาะราคาขายให้ต่ำลง เพื่อช่วงชิงลูกค้า ขณะลูกค้าเอง จากผลวิจัย ซึ่งพบปัจจัยเรื่องราคา ยังเป็นหัวข้ออันดับแรกในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยนั้น มองปัจจัยหลักอย่าง “แบรนด์” ยังเป็นหัวข้อสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเข็นควบคู่กันไปด้วย เพราะ คือ ตัวแทนของมูลค่า (Value) ในอนาคต พบมีผู้บริโภคอีกราว 20-30% ที่ยอมจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อซื้อบ้าน - คอนโดฯ จากแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ เมื่อเทียบกับโครงการในทำเลเดียวกัน หวังมีมูลค่า ขายต่อได้ในอนาคต ฉะนั้นการสร้างแบรนด์ยังเป็นเรื่องจำเป็น เปรียบเป็นต้นทุนไม่เสียเปล่า โดยเฉพาะกับรายเล็ก เนื่องจากสายป่านไม่ยาวเท่ารายใหญ่ แข่งขันยากหากไร้ตัวตน 

 

  “พฤติกรรมผู้บริโภค พัฒนาเข้าสู่การมองว่า ตราสินค้า หรือแบรนด์ คือ มูลค่าตัวเงิน ที่ตีออกมาเป็นราคาได้ และเขามองอสังหาฯ ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่คือสินทรัพย์ปลอดภัยในยามวิกฤติ ที่นำมารีไฟแนนซ์, หรือขายทิ้งได้เงินก้อนโต พยุงภาวะที่ยากลำบากได้”

สิ่งแวดล้อม-พลังงานมาแรง

นางสาว สุมิตรา ยังกล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจในกลุ่มผู้บริโภค คือ พบยุคหลังโควิด ผู้บริโภคเริ่มมองหาที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยในการประหยัดพลังงาน เช่น บ้าน หรือคอนโดฯ ที่ติดโซลาร์เซลล์มากขึ้น ทั้งๆ ที่ในอดีตมองเป็นเรื่องไกลตัว จับต้องไม่ได้ ทั้งนี้ คงมาจากอิทธิพลของโควิด เช่น การทำงานที่บ้าน, การไม่นิยมอยู่ในห้องแคบ พื้นที่แออัดอีกทั้งมองว่า สถานการณ์โรคระบาด โลกร้อน บางส่วนเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม เริ่มตระหนักรู้ ว่าสิ่งแวดล้อมยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ ดังนั้น เรื่องการลดการใช้พลังงานและการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกันที่ทุกคนต้องทำ เพื่อให้ตนอยู่รอดได้ เพราะธรรมชาติไม่เลือกสถานะทางสังคม 

 

 

 

เจน z กลุ่มซื้อใหม่ 
    ทั้งนี้ อยากให้จับตาถึงพฤติกรรมผู้ซื้อกลุ่มเจเนอเรชั่น Z (วัยรุ่น) ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงตลาดอสังหาฯ ในยุคหลังจากนี้ เพราะกลุ่มคนดังกล่าวนิยามแล้วเหมือนเป็นเจนฯเปลี่ยนโลก ซึ่งในหลายธุรกิจเฝ้าศึกษาและติดตามพฤติกรรมความต้องการ อสังหาฯเอง พบมีหลายบริษัท เริ่มหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาจับ มองหากมองข้ามอาจมีผลต่อธุรกิจเหมือนในอดีตที่แบรนด์มือถือ Nokia ไม่สามารถไปต่อได้ในคนเจนฯ x (อายุ 38-54 ปี) 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,634 วันที่ 10 -12 ธันวาคม พ.ศ. 2563