SCB ยืนยันไม่มีนโยบายส่ง SMS ให้ลูกค้ากรอกข้อมูลส่วนตัว

08 ธ.ค. 2563 | 14:20 น.

ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เตือนลูกค้าระวัง SMS หลอกให้คลิกลิงก์ไปยังเว็บไซต์ปลอม ยืนยันอย่าหลงเชื่อหรือกรอกข้อมูลส่วนตัวเด็ดขาด พร้อมเผยข้อมูลมุกยอดฮิตหลอกขโมยข้อมูลออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าระมัดระวังมากขึ้น

ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ได้ออกประกาศแจ้งเตือนผู้ถือบัตร หรือ ผู้มีบัญชีของธนาคารฯอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นธนาคารต่างๆส่ง SMS ปลอม  เช่น ใช้ชื่อผู้ส่งเป็น SCB และอาจส่งมาในกล่องข้อความที่ท่านเคยได้รับจากธนาคาร มีข้อความกระตุ้นให้คลิก เช่น “อัปเกรดระบบผู้ใช้งาน” พร้อมมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกขอข้อมูลที่สำคัญของท่าน  

 

ธนาคารไทยพาณิชย์ขอแจ้งว่า อย่าหลงเชื่อหรือกรอกข้อมูลส่วนตัวใดๆ เช่น เลขบัตรเครดิต, รหัส ATM หรือ Password รวมถึงรหัส OTP ในการทําธุรกรรม และขอเรียนว่า ธนาคารไม่มีนโยบายส่ง SMS เพื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูลส่วนตัวแต่อย่างใด

 

หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ inbox ของเพจเฟซบุ๊ก SCB  Thailand  โดยพิมพ์คำว่า “ติดต่อเจ้าหน้าที่” และเลือกเรื่องที่ต้องการขอรับบริการเช่น ด้านบัญชี ได้เลย

 

 

นอกจากนั้นแล้วธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ"มุกยอดฮิต หลอกขโมยข้อมูลออนไลน์" มานำเสนอผ่านบทความ โดยมีเนื้อหารายละเอียดประกอบไปด้วย 


มุกยอดฮิตที่เหล่ามิจฉาชีพมักใช้กันมีอะไรบ้าง 


-ข้อความนั้นมักจะไม่ระบุชื่อผู้รับว่าส่งถึงใคร แต่จะระบุกลางๆ เช่น เรียนคุณลูกค้าที่เคารพ เรียนลูกค้าบัตรเครดิต เรียนเจ้าของอีเมล


-ส่งข้อความมาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แทนที่จะส่งมาเป็นภาษาไทยด้วย (เฉพาะกรณีเป็นบริษัทของไทย ติดต่อกับลูกค้าที่เป็นคนไทยด้วยกัน)


-ส่งข้อความมาเป็นภาษาไทยที่อ่านแล้วมีการใช้ภาษาแปลกๆ


-อ้างว่าติดต่อทางโทรศัพท์ไม่ได้ เลยต้องส่งอีเมลมาให้คลิกยืนยันตัวตน


-ข้อความที่ส่งมามักมีเนื้อหาทำให้เกิดความวิตกกังวล อยากรู้อยากเห็น ทำให้ดีใจว่าได้รับรางวัล หรือบอกว่ามีความจำเป็นบางอย่างที่ต้องให้ยืนยันตัวตนกลับมา ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถใช้งานระบบได้เป็นต้น


-มีปุ่ม ข้อความ หรือชี่อเว็บไซต์แนบมาในข้อความเพื่อให้คลิก ซึ่งหากใครเจออีเมล หรือ SMS ที่มาพร้อมกับลิงก์รูปแบบต่างๆ ขอให้ตั้งสติไว้ก่อน อย่าเพิ่งใจร้อนคลิกลิงก์ตามเข้าไป หรือหากใครเผลอกดลิงก์เข้าไปก็อย่าให้ข้อมูลใดๆ

 

ในกรณีที่ได้อีเมลแอบอ้างว่าเป็นธนาคาร หรือสถาบันการงิน และไม่แน่ใจว่าอีเมล หรือ SMS ที่ได้รับนั้นเป็นของจริงหรือไม่ แนะนำให้ทำดังนี้


-อย่าให้ข้อมูลใดๆ หรือหากมีไฟล์แนบมาด้วยก็อย่าคลิกเปิดไฟล์ที่แนบมาเพราะอาจมีไวรัส หรือมัลแวร์แอบแฝงอยู่


-เก็บอีเมลนั้นไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ถูกแอบอ้างชื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบและรายงานข้อสงสัย


-โทรสอบถาม Call Center ของธนาคาร หรือสถาบันการเงินนั้นๆ ว่ามีการส่งข้อความดังกล่าวมาจริงหรือไม่ (กรณีได้รับอีเมลแอบอ้างว่าเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถโทรสอบถามได้ที่ช่องทางพิเศษ โทร 02-777-6780)


-ลบอีเมล หรือข้อความที่เราสงสัยทิ้ง หากทราบแน่ชัดแล้วว่าเป็นของปลอม


-หากเผลอให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ปลอมไป หรือไม่แน่ใจว่าได้มีการให้ข้อมูลไปแล้วหรือไม่ ให้รีบติดต่อธนาคารทันที

 

ส่วนวิธีรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ อย่าลืมขั้นตอนต่อไปนี้


-ติดตั้งโปรแกรมตรวจสอบไวรัส/มัลแวร์ต่างๆ และหมั่นอัพเดท/สแกนตรวจจับไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันรอยรั่วจากระบบรักษาความปลอดภัยของเครื่อง


-อย่าคลิกเปิดไฟล์ หรือดาวน์โหลดไฟล์จากแหล่งที่มาที่ไม่น่าเชื่อถือ


-ควรมีการเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นประจำ เช่นทุก 6 เดือน หรือหนึ่งปี หรือเมื่อไม่แน่ใจว่าเผลอไปให้ข้อมูลกับใครหรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือหรือไม่


-ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะในการล็อกอินเข้าทำธุรกรรมออนไลน์


-จำกัดวงเงินเบิก-ถอน ในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเงินจำนวนมากจากภัยออนไลน์ที่อาจคาดไม่ถึง