หนี้ กยศ. ควรจัดการให้ดี

26 พ.ย. 2563 | 06:05 น.

หากมองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนให้กับตัวเอง กยศ. นับได้ว่าเป็นกองทุนที่สำคัญยิ่งในการสนับสนุน หากเราเองได้รับโอกาสทางการศึกษาแล้ว ก็ควรส่งต่อโอกาสนี้ให้กับคนรุ่นถัดไป 


การศึกษาเปรียบเหมือนแสงสว่างที่นำทางให้ชีวิตของแต่ละคน และเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่หากการไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เป็นเพียงเพราะขาดแคลนกำลังทุนทรัพย์ที่เพียงพอ ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าแล้วประเทศจะพัฒนาไปในทิศทางใด กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ. จึงเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแก่นักเรียนและนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ปัจจุบันจากยอดสถิติข้อมูล กยศ. เดือนมิถุนายน 2563 มีผู้กู้ยืมเงินกองทุนอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 5,771,655 ราย

 

หากมองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนให้กับตัวเอง กยศ. นับได้ว่าเป็นกองทุนที่สำคัญยิ่งในการสนับสนุนให้ประชาชนมีความมั่นคงทางการเงินด้วย หากเราเองได้รับโอกาสทางการศึกษาแล้ว เราควรส่งต่อโอกาสนี้ให้กับคนรุ่นถัดไป การชำระหนี้จากการกู้ยืมเพื่อการศึกษานี้ ตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ได้บัญญัติว่า “ให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ กองทุนจะแจ้งหักเงินเดือนโดยใช้ยอดหนี้ตามตารางชำระรายปี โดยหารด้วยจำนวนเดือน (12 เดือน) จะเริ่มหักเงินเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของทุกปี” ดังนั้นในการหักเงินจากเงินเดือนมีลำดับในการหักดังนี้

 

1.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

2.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / ประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

3.เงินกู้ยืมกองทุน กยศ.

 

ตัวอย่าง สมมติเราได้กู้ยืมเงินจำนวน 100,000 บาท ตารางด้านล่างแสดงยอดเงินที่ชำระในแต่ละเดือน

 

หนี้ กยศ. ควรจัดการให้ดี

 

จะพบว่ายอดจำนวนเงินการชำระในแต่ละเดือนไม่ได้มีจำนวนมาก โดยที่ทาง กยศ. มีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี ผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้ก่อนครบกำหนดเวลาชำระหนี้ได้ โดยไม่เสียดอกเบี้ย หลังจากนั้นจึงเริ่มชำระในแต่ละเดือนดังที่ปรากฏตามตาราง การบริหารเงินในช่วงที่ชำระเงินกู้ควรใช้หลักบริหารเงินที่ต้องคำนึงถึงสภาพคล่องที่เหลือน้อยลง เนื่องจากเงินที่จะนำมาใช้ได้เป็นเงินที่เหลือหลังจากที่หักเงินกู้ยืมไปแล้ว ดังนั้น ความมีวินัยทางการเงินเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากจะต้องชำระหนี้เป็นระยเวลา 15 ปี ซึ่งยาวนาน

 

 

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงถัดมาคือ อย่าพยายามก่อหนี้อื่นๆ ที่คิดว่าจำเป็นและที่ไม่จำเป็นเพิ่มเติม เช่น หนี้สินจากที่อยู่อาศัย หนี้สินจากการเช่าซื้อรถยนต์ หนี้สินจากการซื้อสินค้าโดยผ่อนบัตรเครดิต เป็นต้น มิเช่นนั้นเราอาจไม่มีเงินเหลือพอที่จะใช้จ่ายในแต่ละเดือน หากก่อหนี้เกินตัว อย่าลืมว่ารายได้ของเรามีขอบเขตจำกัดในแต่ละเดือน แต่ความต้องการอยากได้สิ่งของเพื่อตอบสนองในชีวิตมีมากกว่าเสมอ เมื่อหยุดก่อหนี้สินแล้วก็เริ่มเก็บเงินเพิ่มเพื่อชำระหนี้กู้ยืมให้หมดเร็วที่สุด โดยเราเริ่มเก็บสะสมเงินเพื่อจะปลดหนี้ให้หมดภายใน 10 ปี แล้วหาอัตราผลตอบแทนระดับ 3.5 % จะต้องเก็บออมเงินปีละ 5,966 บาท หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 500 บาท ก็จะสามารถปิดบัญชีกู้ยืมได้

 

ผมคงไม่ต้องบอกว่า การส่งต่อโอกาสดีๆ ที่เราเคยได้รับให้กับคนรุ่นถัดไปมันดีมากแค่ไหน ถ้าเรายังคงเชื่อว่า การเปิดโอกาสทางการศึกษาคือใบเบิกทางสู่อนาคตอย่างที่เราเคยได้รับ การส่งต่อเงินที่ได้รับมาคืนให้กองทุน เพื่อนำโอกาสดีๆ ไปสู่เด็กรุ่นน้องต่อๆ ไป

 

 

โดย ศุภชัย จันไพบูลย์ นักวางแผนการเงิน CFP®