ทรัพย์สมบัติ ที่มาพร้อมกับความท้าทาย

17 พ.ย. 2563 | 07:33 น.

ความท้าทายของทายาท คือ ทำอย่างไรจะรักษาสมบัติที่เกิดจาก "ธุรกิจครอบครัว" ได้

เจ้าของธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่จะกังวลว่า ทายาทของตัวเองจะไม่สามารถรักษาความมั่งคั่งไว้ได้ มีการศึกษาของ Campden Wealth พบว่าทายาท 62% รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของพวกเขาที่ไม่เพียงจะต้องรักษาแต่ยังต้องเพิ่มให้กับทรัพย์สินของครอบครัวด้วย มีการวิเคราะห์ว่า 70% ของความมั่งคั่งมักจะสูญหายไปในสองชั่วอายุคน และ 90% หายไปในสามชั่วอายุคน

 

ในงานวิจัยเรื่อง The Next Generation of Global Enterprising Families Shaping Tomorrow, Today 2020 พบว่ากลุ่มทายาท 67% มีบทบาทอย่างมากในสำนักงานครอบครัว และ 24% ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงหรือกรรมการผู้จัดการในธุรกิจของครอบครัว นอกจากนี้ยังพบว่าทายาท 43% ได้เข้าควบคุมกิจการของครอบครัวแล้ว ในขณะที่ 26% มีแผนที่จะเข้ารับช่วงกิจการภายในทศวรรษหน้า โดยอายุเฉลี่ยของทายาทที่เข้าควบคุมกิจการของครอบครัวคือ 45 ปี และส่วนใหญ่มีบุตรแล้ว (69%)

ทรัพย์สมบัติ ที่มาพร้อมกับความท้าทาย

อย่างไรก็ตามจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน บางอุตสาหกรรมก็เติบโตขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมบางประเภทก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ทายาทรุ่นต่อไปต้องเตรียมพร้อมมากกว่าที่เป็นมา ด้วยการเรียนด้านบริหารธุรกิจเพิ่มขึ้น และคนรุ่นใหม่จำนวนมากทำงานภายนอกธุรกิจครอบครัวเป็นเวลาหลายปีเพื่อหาประสบการณ์ที่จำเป็นในการนำธุรกิจไปในทิศทางที่ถูกต้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อยากพูด แต่ลำบากใจ

การบริหารธุรกิจครอบครัว แบบ Working Backwards

การสอนทายาทจับปลา    

ทั้งนี้ Leon Fear ผู้อำนวยการรุ่นที่ 2 ของ Fear Group นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ระหว่างประเทศในสหราชอาณาจักรชี้ว่าวิธีแก้ไขความกังวลว่าเรื่องทรัพย์สินของครอบครัวที่ดีที่สุดคือการมุ่งเน้นไปที่การสร้างความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่องโดยการหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ

 

Campden Wealth พบว่า 67% ของทายาทรุ่นต่อไปมีแผนสืบทอดกิจการแล้ว ในขณะที่อีก 33% ไม่มีแผนหรือยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งกลุ่มหลังนี้อันตรายมาก เพื่อหลีกเลี่ยงและแก้ไขความขัดแย้งในครอบครัวเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจครอบครัวและความมั่งคั่ง มีงานวิจัยระบุว่าหลายครอบครัวประสบความสำเร็จจากการใช้วิธีสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ (50%) การประชุมอย่างเป็นทางการเป็นประจำ (43%) และมีนโยบายและขั้นตอนที่เป็นลายลักษณ์อักษร (26%) การสื่อสารระหว่างรุ่น และการหารือเรื่องเชิงกลยุทธ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เกี่ยวกับทิศทางในระยะยาวของธุรกิจเป็นเรื่องที่สำคัญ แนะนำว่าสมาชิกรุ่นใหม่ๆ ควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนโดยไม่ต้องรีบเข้าสู่ธุรกิจครอบครัว

 

หากเป็นไปได้ควรหาประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถนำมาใช้กับธุรกิจครอบครัวในอนาคต โดยธุรกิจที่จะเติบโตได้ดีที่สุดคือธุรกิจที่บริหารโดยคนที่มีความสนใจอย่างแท้จริงในอุตสาหกรรมที่ครอบครัวดำเนินการอยู่ ซึ่งแรงกดดันต่างๆ จะเป็นบททดสอบความแข็งแกร่งของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป ดังนั้นการมีหรือการพัฒนาความสนใจและความหลงใหลในธุรกิจอย่างแท้จริงจะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ โดยควรมุ่งเน้นการสร้างมุมมองด้านบวกของธุรกิจครอบครัวเราในอนาคต 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,627 วันที่ 15 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563