เปิดรายละเอียด "คนละครึ่ง" ยอดใช้พุ่ง 1 หมื่นล้าน 

10 พ.ย. 2563 | 10:32 น.

"นายกฯ' สุดปลื้มโครงการ "คนละครึ่ง" ฮิตยอดใช้พุ่ง 1 หมื่นล้าน สั่งคิดมาตรการเร่งกระตุ้นศก.เพิ่ม 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เอ่ยปากชมโครงการ "คนละครึ่ง" ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมกับสั่งการให้ทุกหน่วยงานไปช่วยกันคิดว่า จะมีการออกมาตรการ หรือแคมเปญอะไรให้ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มเติมหรือไม่ 

 

วันที่ 10 พ.ย.2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยให้ทุกหน่วยงานไปเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม หลังจากขณะนี้ประชาชนชื่นชมโครงการคนละครึ่งเป็นอย่างดี  จึงอยากให้ทุกหน่วยงานไปช่วยกันคิดว่า จากนี้จะมีการออกมาตรการ หรือแคมเปญอะไรให้ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มเติม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัพเดท "คนละครึ่ง" กับ "ช้อปดีมีคืน" เช็กที่นี่ ครบจบที่เดียว

อัปเดต คนละครึ่งรอบ2 เปิดเงื่อนไขลงทะเบียนคนละครึ่ง3000

วิธีสมัครแอปฯ“MyMo”กู้สินเชื่อเสริมพลังฐานรากธนาคารออมสิน สูงสุุด 5 หมื่นบาท

ผ่อนบ้านกับออมสิน ดอกเบี้ย 2.5% ตลอด 3 ปี

 

"สำหรับรายละเอียดของมาตรการว่าจะทำอะไร อย่างไรบ้าง หรืออาจจะขยายโครงการคนละครึ่งหรือไม่นั้น ตอนนี้ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปพิจารณาถึงความเหมาะสมกันอีกครั้ง ก่อนนำมาเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาต่อไป" น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ผู้สื่อข่าว รายงานความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง ล่าสุด ณ เวลา 12.00 น. วันที่ 10 พ.ย. 2563 พบว่า มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5.7 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิจำนวน 7,387,647 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม  11,021.55 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 5,618.27 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 5,403.28  ล้านบาท และเป็นยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 212 บาทต่อครั้ง โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่

 

น.ส. ไตรศุลี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2563 ได้รับทราบสรุปผลการดำเนินงานมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ "ชิมช้อปใช้" ช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสรุปในภาพรวมของการดำเนินงาน มาตรการชิมช้อปใช้ ได้ส่งผลบวกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.1-0.3%

 

ขณะที่ความพึงพอใจของประชาชนนั้น จากการสำรวจพบว่า มีความพึงพอใจต่อเงินสนับสนุน 1,000 บาท 74.6% พึงพอใจต่อความปลอดภัยในการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง 74.2% และมีความพึงพอใจต่อความสะดวกในการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง 73.9%

 

สำหรับผลการดำเนินมาตรการในช่วงระหว่างวันที่ 27 ก.ย. 2562-31 ม.ค. 2563 มีผู้ได้รับสิทธิจำนวน 14,354,159 คน มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 11,802,073 คน มีร้านค้าที่มีผู้ไปใช้สิทธิ์จำนวน 103,053 ร้าน มียอดการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (g-Wallet) รวม 28,819 ล้านบาท แยกเป็น ช่องที่ 1 จำนวน 11,671 ล้านบาท และช่องที่ 2 จำนวน 17,148 ล้านบาท กระทรวงการคลังจ่ายเงินชดเชยรวม 12,930 ล้านบาท

 

ส่วนผลประเมินความคุ้มค่าและความพึงพอใจ พบว่า ยอดการใช้จ่ายของร้านชิมช้อปใช้ รวมกันมีมูลค่ามากกว่าร้านค้าทั่วไป 7.8 เท่า และการใช้จ่ายส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับร้านโอทอป และ ร้านธงฟ้าประชารัฐ แสดงให้เห็นว่าร้านค้ารายย่อยได้รับรายได้จากมาตรการมากกว่าร้านค้ารายใหญ่

 

นอกจากนี้ ยังมีการกระจายตัวของการใช้จ่ายครอบคลุมทั่วประเทศและลงไปถึงร้านค้ารายย่อย รวมทั้งได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนให้มีความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การผลักดันให้ประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และการสร้างฐานช้อมูลขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการวิเคราะห์เชิงลึกต่อไป