“ช้อปดีมีคืน” ต้องใช้ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีแบบไหน ลดหย่อนภาษี เช็กที่นี่

24 ต.ค. 2563 | 03:00 น.

ข้อควรรู้ “ช้อปดีมีคืน” ซื้อสินค้าและบริการแล้ว ต้องขอ ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน แบบไหน มาเป็นหลักฐาน ยื่นกรมสรรพากร หักลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท

“ช้อปดีมีคืน” มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ที่เปิดให้ประชาชนผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นำเอกสารหลักฐานการซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563 มาหักลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง รวมแล้วไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน

อย่างไรก็ตามหลายคนยังเข้าใจว่าใบเสร็จรับเงินเพียงใบเดียวก็สามารถนำไปเป็นหลักฐานในการขอหักลดหย่อนภาษีจากรมสรรพากรได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะตามเงื่อนไขมาตรการช้อปดีมีคืน กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า หลักฐานที่จะนำมาใช้ในการหักลดหย่อนภาษีได้นั้น จะประกอบด้วย ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงิน ดังนี้

 

1. กรณีซื้อสินค้าและบริการทั่วไป ต้องใช้หลักฐานใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของผู้ซื้อ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงิน

 

2. กรณีซื้อหนังสือ รวมถึง e-book ต้องใช้หลักฐานใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงินที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของผู้ซื้อ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงิน

 

3. กรณีซื้อสินค้า OTOP ต้องใช้หลักฐานใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงินที่ระบุรายการสินค้า OTOP, ข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของผู้ซื้อ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงิน

 

4. กรณีซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน ต้องมี ใบเสร็จรับเงินที่มีข้อความครบถ้วน ดังนี้  เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย เลขลำดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาสินค้าที่ซื้อ จำนวนเงิน

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ที่ใช้เป็นหลักฐานขอหักลดหย่อนภาษีจากมาตรการช้อปดีมีคืน ต้องมีรายละเอียด ดังนี้

 

1. คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

 

2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

 

3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

 

4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

 

5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

 

6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

 

7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

 

8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

ตัวอย่าง ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

ที่มา: รูปแบบใบกำกับภาษี กรมสรรพากร