ทุนไทยหอบเงินลงทุนนอกพุ่ง43%

09 ต.ค. 2563 | 10:00 น.

ธปท.เผย เงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประทศ ไตรมาส 2 ขยายตัว 10.42% ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ 8 เดือนแรก ทุนไทยไปนอกเพิ่ม 43% พบ 66% ลงทุนในอาเซียน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขของผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ(Thai Direct Investment aboard : TDI) ไม่รวมการลงทุนในประเทศพวก Tax haven ไตรมาส 2 ปี2563 มีมูลค่ารวม 156,374.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.42%,มูลค่า 14,756.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงเดียวกันของปี 2562 

 

เฉพาะเงินลงทุนในภูมิภาคอาเซียน มียอดคงค้าง 50,916.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยอดคงค้าง TDI ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนำโดย อินโดนีเซีย 64.05%  มาเลเซีย 20.65% เวียดนาม 17.02% สิงคโปร์ 13.91% ฟิลิปปินส์ 12.00% เมียนมาร์ 9.40% กัมพูชา 7.07% สปป.ลาว 2.31% และบรูไน 1.23%

 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2563 เงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 43.3% โดยยอดรวมอยู่ที่ 10,545.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งสัดส่วนหลักๆกว่า 66 % เป็นการลงทุนในอาเซียน รองลงมาเป็นฮ่องกง 14% และสหรัฐอเมริกา 5%  

 

ทุนไทยหอบเงินลงทุนนอกพุ่ง43%

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศหลักๆของไทยจะอยู่ในกลุ่มกิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย โดยมียอดสะสมแล้วกว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีสัดส่วน 42% ของยอดสะสมในปีนี้ ซึ่งทิศทางดังกล่าว แตกต่างจากปี 2562 ที่ภาพรวมการลงทุนของไทยในต่างประเทศทั้งปี หลักๆจะอยู่ในภาคการผลิตมากกว่า

 

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีหรือ TMB Analytics กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศไตรมาส 2 ปีนี้ เติบโตกว่าปีก่อน 10.5% โดยหลักๆ กลุ่มธุรกิจภาคการเงินและการประกันภัยมีสัดส่วน 13% ของยอดเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศปีนี้ และขยายตัวเพิ่มขึ้น 13%

 

สอดคล้องกับระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ออกไปลงทุนในช่วงที่ผ่านมา รองลงมาเป็นกลุ่มค้าปลีกค้าส่งที่มีสัดส่วนและเติบโต 12% และภาคการผลิตมีสัดส่วน 33% เติบโตขึ้น13% เช่น การผลิตยานยนต์ เครื่องดื่มและอาหารอุปกรณ์ไฟฟ้า 

ทุนไทยหอบเงินลงทุนนอกพุ่ง43%

“การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนไทยในต่างประเทศ ก็มีผลเสียต่อการแย่งเม็ดเงินลงทุนในประเทศ เพราะบริษัทใหญ่ มองผลตอบแทนการลงทุนต่างประเทศดีกว่าการลงทุนในประเทศ จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับประเทศ ที่จะต้องดึงการลงทุนในประเทศให้กลับมา เพราะเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การลงทุนในประเทศยังไม่ฟื้น”

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีในการทำ M&A หรือซื้อสินทรัพย์ได้ราคาถูก ทำให้การประเมินมูลค่าลดลง ซึ่งบริษัทรายใหญ่ที่เข้มแข็งสามารถนำสินทรัพย์ออกไปลงทุนเพื่อสร้างอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เพิ่มขึ้น

 

นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)หรือ CIMBT กล่าวว่า แนวโน้มการออกไปลงทุนโดยตรงของธุรกิจคนไทยในอาเซียนยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจต้องขยายธุรกิจในอาเซียน 

ทุนไทยหอบเงินลงทุนนอกพุ่ง43%

“อาเซียนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของธุรกิจคนไทย ซึ่งมีความหลากหลาย ของผลิตภัณฑ์ จึงเป็นโอกาสของธุรกิจที่มีศักยภาพในการขยายตลาด เช่น ภาคการผลิต (อาหารและเครื่องดื่ม) ด้านพลังงาน ระบบสาธารณูปโภคและเฮลธ์แคร์ ซึ่งซีไอเอ็มบีไทยเองอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าหลายราย แต่ยังไม่สามารถปิดดีล แต่คาดว่าทั้งปียังมีแนวโน้มเชิงบวก คาดว่าจะเติบโต 7-10%”

 

ส่วนแนวโน้มคาดว่า การซื้อกิจการในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40% ซึ่งปีหน้าเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนน่าจะเห็นธุรกรรมเติบโต 20-30% 

 

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีฯ วางตำแหน่งทางการตลาดในอาเซียนเป็นกุญแจสำคัญ สำหรับปัจจุบันและระยะกลางต่อไป โดยกำลังจัดทำแผนธุรกิจในอีก 3 ปีข้างหน้า(2564-2566) โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโควิดอาจทำให้การผลิตสินค้าต้องผลิตที่เอเชียจากก่อนหน้าที่สามารถผลิตที่ไหนก็ได้รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตอยู่แค่อาเซียน 

ทุนไทยหอบเงินลงทุนนอกพุ่ง43%

“กรุงศรีอยุธยา เป็นธนาคารที่สามารถพาลูกค้าออกไปในอาเซียนได้อย่างแข็งแรง สามารถขยายบริการทั้งลูกค้าคนไทยและลูกค้าในอาเซียนได้ สิ่งสำคัญเราสามารถพาลูกค้าคนไทยทั้ง SMEs และ Corporate ไปไหนอาเซียนได้ทั้งเครือข่ายของ MUFG ที่มีสาขาในอาเซียน 1,600 แห่งใน 8 ประเทศจาก 3,000 สาขา/สำนักงานใน 50 ประเทศทั่วโลก"

 

นอกจากนั้นกรุงศรีอยุธยายังขยายบริการใน CLMV หลายประเทศ ทั้งสาขาเวียงจันทร์ ในสปป.ลาว ในเมียนมาเป็นสำนักผู้แทน ขณะที่ในกัมพูชาได้ยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ Hattha Bank Plc.และยังมีเป้าหมายจะขยายบริการลูกค้ารายย่อยในเวียดนาม และเริ่มขยับในฟิลิปปินส์ หลังจากธนาคาร กรุงศรีอยุธยาได้เข้าซื้อหุ้น 50% ของบริษัท เอสบี ไฟแนนซ์ คอมปานี อิงค์ (SB Finance Company, Inc. หรือ SBF) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทไฟแนนซ์ที่มีการเติบโตสูงจากซีเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ปอเรชั่น (Security Bank Corporation) หรือ SBC 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กองตราสารหนี้กระอัก ไตรมาสแรกเงินไหลออก 4.5 แสนล้าน

เงินไหลออก 9แสนล้าน กดบาทอ่อนต่อ

เอฟดีไอไทยรั้งบ๊วยอาเซียน 4ปีสิงคโปร์ทิ้งห่าง 12 เท่า

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,616 วันที่ 8 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2563