กองตราสารหนี้กระอัก ไตรมาสแรกเงินไหลออก 4.5 แสนล้าน

14 เม.ย. 2563 | 12:30 น.

มอนิ่งสตาร์ ระบุไตรมาสแรกปี 63 NAV อุตสาหกรรมกองทนรวมไทยลด 15.3% มีเงินไหลออก 3.9 แสนล้านบาท พบกองตราสารหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 4.5 แสนล้านบาท หลังการระบาด COVID-19

มอนิ่งสตาร์ไทยแลนด์ระบุว่า  อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยไตรมาสแรก ปี 2563 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV) ที่  4.6 ล้านล้านบาท ลดลง  15.3% จากสิ้นปี  2562  มีเงินไหลออกสุทธิ 3.9 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกสุทธิเกือบทุกประเภทสินทรัพย์  มากสุดมาจากกองทุนรวมตราสารหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง  4.5 แสนล้านบาท กลุ่มตราสารทุนมีเงินไหลออกสุทธิ  2.4 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกองทุนผสมลดลง  1.3 หมื่นล้านบาท  มีเพียงกองทุนตราสารตลาดเงินที่มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.0 แสนล้านบาท

กองตราสารหนี้กระอัก ไตรมาสแรกเงินไหลออก 4.5 แสนล้าน

กรณีเงินไหลออกสุทธิที่สูงของกองทุนรวมตราสารหนี้นั้นเกิดจากเงินไหลออกจากกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ที่มีขนาดใหญ่เช่นกลุ่ม Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond ที่มีการปิดกองทุนขนาดใหญ่ รวมทั้งมีเงินไหลออกจากกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term ที่เป็นไปตามเงื่อนไขปิดกองทุนเมื่อครบกำหนด โดยในไตรมาสแรกมีกองทุนกลุ่มนี้ปิดไปทั้งสิ้น 66 กองทุน ทำให้อาจมีเงินบางส่วนไหลเข้ากองทุนรวมตราสารตลาดเงินซึ่งเกิดจากการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ

สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้กลุ่ม Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond  มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2019 รวมทั้งสิ้น 1.3 ล้านล้านบาท โดยมี บลจ.ไทยพาณิชย์ มีส่วนแบ่งตลาด 20.7% ใกล้เคียงกับบลจ.ทหารไทย ที่ 20.0% แต่หลังจากมีเงินไหลออกสุทธิจาก 2 กลุ่มกองทุนนี้รวม 3.1 แสนล้านบาท และเป็นเหตุให้มีการเลิกกองทุนของ บลจ.ทหารไทย  4 กองทุน ทำให้ภาพรวมตลาดเปลี่ยนแปลงไป โดยมูลค่าทรัพย์สินรวม 2 กลุ่มลดลง 23.6% เหลือ 9.9 แสนล้านบาท และบลจ. ไทยพาณิชย์ยังคงเป็นผู้นำในตลาดนี้ที่ส่วนแบ่งตลาด 26.3% และมี บลจ.กสิกรไทยขยับขึ้นมาเป็นอันดับสองด้วยส่วนแบ่งตลาด 22.1% ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของ บลจ.ทหารไทย ลดลงเหลือ 1.2% เนื่องจากทั้ง 4 กองทุนที่เลิกนั้นเป็นกองทุนขนาดใหญ่ของบลจ. ทหารไทย

กองตราสารหนี้กระอัก ไตรมาสแรกเงินไหลออก 4.5 แสนล้าน

ทั้งนี้สาเหตุของเงินไหลออกกองทุนตราสารหนี้นั้น หากย้อนกลับไปในช่วงกลางเดือนมีนาคมจะพบว่า มีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมากโดยเฉพาะในวันที่ 12 มีนาคมที่สูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทั้งเดือนกุมภาพันธ์ขายสุทธิ 2.2 หมื่นล้านบาทและหลังจากวันดังกล่าว ก็มีเม็ดเงินขายตราสารหนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องประมาณวันละ 5-6 พันล้านบาท ทำให้เริ่มส่งผลต่อตราสารหนี้ที่กองทุนรวมถืออยู่และสะท้อนไปที่ NAV ของกองทุน นักลงทุนจึงเริ่มเกิดความตระหนกและมีแรงขายกองทุนตราสารหนี้มากขึ้น เป็นเหตุให้มีการปิดกองทุน”

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ออกมาตรการเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้ไทย 3 มาตรการคือ 1. เสริมสภาพคล่องให้กองทุนรวมตราสารหนี้ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมโดยธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้  2. จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องร่วมกันกับ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุน หรือเป็นการช่วยฝั่งธุรกิจให้สามารถระดมทุนต่อได้หากตลาดมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ และ 3. ดูแลให้ตลาดตราสารหนี้ภาครัฐมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ โดยมีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อเนื่อง

กองตราสารหนี้กระอัก ไตรมาสแรกเงินไหลออก 4.5 แสนล้าน

“สถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ เกิดกับตลาดตราสารหนี้ในประเทศอื่นเช่นกัน โดยช่วงเดือนมีนาคม ที่การระบาดของ COVID-19 เริ่มรุนแรงขึ้นและขยายพื้นที่ไปหลายประเทศทั่วโลกทำให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ โดยในสหรัฐอเมริกาก็มีกระแสเงินไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้และเข้าไปยังตราสารตลาดเงิน นอกจากนี้ยังมีฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลียที่มีภาพกระแสเงินที่คล้ายกันคือมีเงินไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้อย่างมีนัยสำคัญในเดือนมีนาคม แต่จะต่างกับประเทศไทยคือมีการกระจายการไถ่ถอนหน่วยลงทุนในหลายกองทุน”