เงินไหลออก 9แสนล้าน กดบาทอ่อนต่อ

13 มี.ค. 2563 | 11:05 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

เงินบาทอ่อนค่า 2 เดือนเศษ 5% ตลาดเงินมองแนวโน้มไตรมาส 3 ลงแตะระดับ 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ชี้บอนด์ยีลด์ดิ่ง กดดันกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 0.25% จับตาการแพร่ระบาดโคโรนา หากลากยาวถึงกันยายน ดึงเศรษฐกิจสหรัฐฯไตรมาส 2 คาดสิ้นปีเงินไทยออกทั้งตลาดทุน-ตราสารหนี้กว่า 3 หมื่นล้านดอลล์ หลังต้นปีนักลงทุนขายออกสุทธิตลาดหุ้น 2.13 หมื่นล้านบาทและพันธบัตรไหลออกสุทธิ 5.33 หมื่นล้านบาท

ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงไปมาก ส่งผลให้ CDS Spread ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีของไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินกว่าระดับ 0.50% และสูงขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี แม้จะยังตํ่ากว่าช่วงวิกฤติซับไพรม์ ปี 2551-2552, นํ้าท่วมปี 2554 และวิกฤติราคานํ้ามันที่ตํ่าปี 2557-2559 แต่ก็สะท้อนว่า ตลาดกำลังกังวลมากขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจและฐานะการเงินของตราสารที่ตนถือครอง

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า ตลาดเงินโลกสะท้อนทิศทางน่าเป็นห่วง เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยีลด์) ของพันธบัตรทุกช่วงอายุปรับลดลง โดยเฉพาะอายุ 10 ปี 5 ปี ทั้งสหรัฐฯและไทย เช่นอายุ 10 ปีเหลือ 0.52% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1.9% อายุ 5 ปีเหลือ 0.42% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1.6% ขณะที่พันธบัตรไทยอายุ 10 ปีเหลือ 0.82% และ 5 ปีเหลือ 0.78%

บอนด์ยีลด์ที่ลดลงตํ่าอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สะท้อนตลาดมองลบแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการระบาดของไวรัสโคโรนา(โควิด-19) ซึ่งตลาดมองการระบาดทั้งโลก ขณะที่ตลาดเงินในประเทศยังผันผวนและเงินไหลออกและเงินบาทไม่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอีกต่อไป แม้จะมีทิศทางอ่อนค่า แต่ไม่มาก เพราะยังมีดีลควบรวมกิจการในไทยเข้ามาช่วยได้บ้างและนักลงทุนไทยต้องการออกไปลงทุนในกองทุนรวมเพื่อลงทุนต่างประเทศ(FIF) โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ นอกจากนักลงทุนต่างชาติยังขายออกสุทธิในตลาดหุ้นไทย

เงินไหลออก 9แสนล้าน กดบาทอ่อนต่อ

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ กล่าวว่า แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายมีสถานะขายสุทธิทั้งสองตลาด โดยนักลงทุนขายสุทธิในตลาดหุ้นสะสม 53,094 ล้านบาท และลดการถือครองพันธบัตรไทย 21,223 ล้านบาท ซึ่งยอดคงค้างการถือครองพันธบัตรอยู่ที่ 895,708 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่  916,931 ล้านบาท (ตั้งแต่ 1 มกราคม-6 มีนาคม 2563) โดยปัจจัยหลักมาจากนักลงทุนต่างชาติปรับพอร์ตหรือลดสถานะการลงทุนในภูมิภาคเอเชียและไทยต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชียและไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ประกอบกับทิศทางบอนด์ยีลด์ตลาดพันธบัตรทยอยปรับลดลง โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ของพันธบัตรที่มีอายุตํ่ากว่า 10 ปีได้ลดลงตํ่ากว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับ 1.00% แล้ว

การปรับลดลงของบอนด์ยีลด์ โดยเฉพาะที่มีอายุตํ่ากว่า 10 ปีอยู่ในระดับ 1.00% ซึ่งตํ่ากว่าดอกเบี้ยนโยบายเป็นมาตรวัดที่ตลาดประเมินคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมวันที่ 25 มีนาคมนี้ ส่วนทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทอ่อนค่าแล้ว 5% ซึ่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคถือว่า เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ฯ กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่ามีสาเหตุจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับมุมมองการเข้าแทรกแซงค่าเงินในช่วงต้นปี 2563 จากนั้นโควิด-19 เริ่มระบาดปลายเดือนมกราคม และรุนแรงอีกในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งช่วงนั้นเงินบาทอยู่ในระดับสูงสุดที่ 31.86 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่แนวโน้มเงินบาทยังแกว่งอยู่ในกรอบ 31-32 บาทต่อดอลลาร์

สหรัฐฯเพิ่งประกาศภาวะฉุกเฉินว่า อาจเอาไม่อยู่ ถ้าโควิด-19 ลากยาวถึงเดือนกันยายน จะดึงเศรษฐกิจสหรัฐฯไตรมาส 2 ซึ่งถ้าดอลลาร์อ่อนค่า อาจจะเห็นเงินบาทจาก 30.5 บาทต่อดอลล์ ปรับเป็น 31-31.50 บาทต่อดอลล์ และมองว่านักลงทุนขายสุทธิในตลาดหุ้นทั้งปี 5-6 พันล้านดอลลาร์และขายสุทธิตลาดพันธบัตรราว 3-4 พันล้านดอลลาร์ เพราะอัตราผลตอบแทนของไทยตํ่า ซึ่งหากรวมทั้ง 2 ตลาดจะเป็นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 9.3 แสนล้านบาท

เงินไหลออก 9แสนล้าน กดบาทอ่อนต่อ

จิติพล พฤกษาเมธานันท์

 

 

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับลดลงตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ในปัจจุบันมองว่า เป็นผลบวกต่อภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ระยะยาว โดยเฉพาะบริษัทที่ยังมีอันดับเครดิตที่ดี รวมถึงความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนยังมีจำนวนมาก จากสภาพคล่องในมือที่มีสูง มีความต้องการออมเงิน และยังคงเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย โดยคาดว่าการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนในปีนี้ยังมีปกติ อาจจะล่าช้านิดหน่อย เพราะต้องพิจารณาความผันผวนของภาวะตลาดควบคู่ไปด้วย

การออกหุ้นกู้ที่ต้องการเงินระดมทุนจำนวนมากในช่วงนี้ ยังเห็นการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่มีข้อดีของการออกเป็นลักษณะเหมือนเพิ่มทุน แม้หากออกแล้วจะถูกปรับลดอันดับเครดิต 2 ขั้น แต่ยังคงอันดับไว้ในระดับที่ดีอยู่รวมถึงประชาชนยังมีความต้องการลงทุนในหุ้นกู้ เนื่องจากไม่มีที่พักเงิน ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% เพราะจะดูที่คู่แข่งเป็นหลัก นอกจากนี้มองว่าจะไม่มีการเร่งออกหุ้นกู้ของเอกชน เพราะตลาดที่ผันผวนในปัจจุบัน หากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน ก็ไม่ควรกู้เงินสดมาถือไว้” 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12-14 มีนาคม 2563