เต๋อต้าว สุดยอดสถาบันการศึกษา ที่คิดนอกกรอบของจีน (1)

20 ก.ย. 2563 | 03:40 น.

เต๋อต้าว สุดยอดสถาบันการศึกษา ที่คิดนอกกรอบของจีน (1) : คอลัมน์ มังกรกระพือปีก  โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร  รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,611 หน้า 5 วันที่ 20 - 23 กันยายน 2563

 

หลายครั้งหลายหนที่ผมมีโอกาสไปแบ่งปันข้อมูลพัฒนาการด้านการศึกษาของจีน และดูเหมือนผู้ฟังจำนวนมากให้ความสนใจกับสถาบันเต๋อต้าวที่ผมยกตัวอย่างประกอบการบรรยายเสมอ วันนี้ ผมจะขออนุญาตพาท่านผู้อ่านไปรู้จักนวัตกรรมสถาบันการศึกษาของจีนที่น่าสนใจยิ่งกันครับ

 

รากเหง้าของปัญหาของจีน ที่ผ่านมา จีนเองก็ประสบปัญหาด้านการพัฒนาบุคลากรเป็นอย่างมาก ในด้านหนึ่ง เนื่องจากสถาบันการศึกษาระดับปริญญาเกือบทั้งหมดเป็นของรัฐ และมีกฎระเบียบคุมเข้มมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้การเปิดสถาบันหรือปรับปรุงหลักสูตรมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและต้องใช้เวลานานมาก ส่งผลให้สถาบันการศึกษาที่มีอยู่ส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและนโยบายของภาครัฐ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ 

 

ในอีกด้านหนึ่งสภาพปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจของจีนและของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจและตลาดต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายด้านในเวลาเดียวกัน อาทิ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ต ทั้งที่ปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญหรือความท้าทายทางธุรกิจน้อยมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังต้องการปฏิรูปภาคเศรษฐกิจ และปรับเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นด้านนวัตกรรม การออกแบบ และการสร้างตราสินค้าผ่านหลากหลายนโยบายและโครงการ อาทิ Belt & Road Initiative, Made in China 2025 และการพัฒนาชุมชนเมือง 

 

ด้วยเงื่อนไขและสภาพการณ์เหล่านี้จึงส่งผลให้จีนต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในเชิงคุณภาพที่รุนแรงมากขึ้น ผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของตลาดและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพปัจจัยแวดล้อมที่กำลังถาโถมเข้ามาได้ หลายฝ่ายก็กังวลใจว่า หากสถานการณ์ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและประเทศจีนในระยะยาว

 

ก่อกำเนิดเต๋อต้าว ครั้งถึงปี 2006 ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจเต๋อต้าว (DeTao Group) นำโดยนายหลี่ จั๋วจื้อ (Li Zhouzhi) หรือที่รู้จักกันในนามจอร์ช ลี (George Lee) ได้ตัดสินใจลงทุนในด้านการศึกษาขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ภายใต้ชื่อ Beijing DeTao Education Investment Co., Ltd. ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านหยวน 

 

เต๋อต้าวกรุ๊ปตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรดังกล่าวและความสำคัญของนวัตกรรมและการออกแบบที่มีต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างดี ในปี 2010 กลุ่มธุรกิจนี้โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากรัฐบาลจีน จึงได้ประกาศจับมือกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาอย่าง Shanghai Institute of Visual Arts (SIVA) ซึ่งเป็นเครือข่าย ของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) หนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของจีน เพื่อออกแบบและจัดทำรูปแบบการศึกษาและหลักสูตรเฉพาะทาง ในด้านการออกแบบ การสร้างตราสินค้า แฟชั่น การ์ตูน เพลง และหลากหลายสาขาวิชาอาชีพที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท-เอก รวมไปถึงการฝึกอบรมพิเศษ ภายใต้ชื่อ DeTao Group Master Academy

 

องค์ประกอบความสำเร็จ ในการพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา เต๋อต้าวเล็งเห็นว่า การมีห้องเรียนที่มีอุปกรณ์พร้อมสรรพ หรือห้องสมุดที่มีตำราและวารสารดีๆ อาจเป็นสิ่งที่ทุกสถาบันการศึกษาที่มีเงินทุนสามารถจัดหาได้ไม่ยาก แต่การจะทำให้หลักสูตรประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สถาบันจำเป็นต้องใส่ใจในรายละเอียดมากกว่านั้น โดยควรให้ความสำคัญยิ่งกับการมีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในระดับโลก รวบรวมสุดยอดภูมิปัญญาด้านการออกแบบของอุตสาหกรรมเป้าหมายเอาไว้ในมือ ต่อยอดในเชิงธุรกิจแก่ผู้สำเร็จการศึกษา และเสริมสร้างการพัฒนาองค์กรอย่างจริงจัง 

 

ในการดำเนินงานตามแนวคิดดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม สถาบันได้เริ่มรวบรวมผู้รู้ คณาจารย์ ผู้ก่อตั้งกิจการ และนักออกแบบชั้นนำของแต่ละประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก รวมทั้งผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศในสาขาวิชาด้านต่างๆ เข้ามาเป็นเครือข่ายกว่า 500 คนจาก 24 ประเทศ/ภูมิภาค 

 

ด้วยความใหญ่ของจีนและเต๋อต้าว ทำให้การดำเนินการในส่วนนี้ดูง่ายดุจพลิกฝ่ามือ นอกจากนี้ สถาบันยังได้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนกว่า 100 คนเข้าไปอยู่ในหอเกียรติยศ (Hall of Fame) เพื่อช่วยแนะนำการออกแบบและจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน บรรยาย และร่วมกิจกรรม/โครงการของสถาบัน โดยในปัจจุบัน ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวได้เปิดสตูดิโอด้านงานออกแบบถึง 60 แห่งในจีน และช่วยออกแบบและจัดทำหลักสูตรจนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ถึง 12 หลักสูตร 

 

ลักษณะทางสรีระและบรรยากาศ สถาบันยังเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนผ่านสภาพแวดล้อมภายในรั้วมหาวิทยาลัยแบบทุกอณู เพื่อหวังให้เป็นกลไกกระตุ้นและส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้ในทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ชั้นเรียน โถงรับแขก และที่พัก รวมทั้ง มุมกาแฟ ห้องอาหาร หรือแม้กระทั่งห้องนํ้า

 

 

 

โดยในทางปฏิบัติ เพื่อให้แต่ละหลักสูตรไม่ผิดเงื่อนไขของกระทรวงศึกษาธิการจีน และเหมาะสมกับสภาพตลาดในอนาคต เต๋อต้าวก็ออกแบบและจัดการเรียนการสอนเฉพาะทาง แต่ให้สอดคล้องกับสาขาวิชาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ อาคารหลักของสถาบันที่มีความสูง 15 ชั้นได้ถูกจัดสรรพื้นที่ไว้แยกจากกันอย่างเป็นสัดส่วน อาทิ

 

ชั้นที่ 2 เป็นพื้นที่สำหรับการออกแบบแฟชั่นและเสื้อผ้า (Fashion & Apparel Design: FAD) แต่สถาบันกำหนดชื่อเฉพาะว่า Fashion-Knitwear-Sportwear Design โดยมี Patrick Gottelier และ Jane Gottelier เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร เมื่อขึ้นไปถึงก็จะเห็นโต๊ะออกแบบขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์มากมายตั้งเด่นเป็นสง่า ฝาผนังและพื้นที่ส่วนต่างๆ ยังรายรอบไปด้วยชิ้นงานการออกแบบเสื้อผ้าของนักศึกษาที่มุ่งเน้นการทำตลาดสินค้าเสื้อผ้าในทุกปลายภาค อาทิ การจัดเดินแบบเสื้อผ้าคอลเล็คชั่นใหม่ และการออกแบบ Pop-Up Store เพื่อเป็นจุดจำหน่ายเสื้อผ้าที่ออกแบบไว้

 

เต๋อต้าว สุดยอดสถาบันการศึกษา ที่คิดนอกกรอบของจีน (1)

 

 

ชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งสถาบันเต๋อต้าวด้านแอนนิเมชั่นและงานสร้างสรรค์ (DeTao Institute for Animation and Creative Content: IACC) และสาขาวิชาด้านแอนนิเมชั่น โดยมีศาสตราจารย์ที่โด่งดังระดับโลกอย่าง Robin King กำกับดูแล กูรูท่านนี้เคยช่วย Sheridan College สร้างและพัฒนาโปรแกรมแอนิเมชั่นทางคอมพิวเตอร์แรกของโลก จนส่งผลให้ผู้คนในวงการขนานนาม Sheridan College ว่าเป็น “Harvard of Computer Animation” ปัจจุบัน ท่านมีลูกศิษย์มากมายในกิจการชั้นนำในวงการอย่าง Pixar, Dreamworks, Disney, Industrial Light, EA และ Sony Imageworks ขณะเดียวกัน คณาจารย์ในหลักสูตรก็ล้วนมีผลงานการสร้างแอนิเมชั่นที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย อาทิ Pirates of the Caribbean, Lord of the Rings และ King Kong

 

พื้นที่ชั้นนี้ถูกออกแบบโดยเน้น ความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ ตกแต่งด้วยอิฐสีแดง เฟอร์นิเจอร์ไม้ และเพดานที่ดูเหมือนยังก่อสร้างไม่เสร็จ พื้นที่ยังถูกซอยย่อยเป็นห้อง Pre-& Post-Production ห้องการผลิตแอนิเมชั่น 3 มิติ ศูนย์ข้อมูล ห้องตัดต่อและระบบเสียง ห้องภาพเคลื่อนไหวและการวาดภาพ ห้องเหล่านี้อัดแน่นไปด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ชั้นยอดที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอน โต๊ะสเก็ตภาพที่ลงทุนจัดซื้อจากแคนาดา และซอฟท์แวร์ระดับโลกที่พร้อมสรรพ

 

ทั้งนี้ แต่ละเทอม อาจารย์ประจำวิชาจะมอบหมายงานที่แตกต่างกันออกไป อาทิ การให้กลุ่มนักศึกษาจำนวนไม่เกิน 4 คนคิดและสร้างสรรค์ผลงานด้านแอนนิเมชั่นเป็นคลิปหนังสั้นที่มีความยาวไม่เกิน 5 นาที พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญจากฮอลลีวู้ดมาให้คำแนะนำ ก่อนนำเอาผลงานไปส่งประกวดชิงรางวัลในเวทีนานาชาติต่อไป

 

ชั้นที่ 4 เป็นพื้นที่ของหลักสูตรการจัดการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Cultural Industry) และการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ เต๋อต้าวได้จัดแบ่งพื้นที่ในชั้นนี้ออกเป็นหลายส่วน ดังนี้ในส่วนแรก การเรียนการสอนจะเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การสร้างและจัดการตรา สินค้า (Brand Strategy and Management: BSM) โดยมี Florin Baeriswyl เป็นผู้ดูแลหลักสูตร ส่วนที่สองมุ่งเน้นการออกแบบสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ยั่งยืน (Sustainable Furniture Design: SFD) โดยมี Dirk Wynants กำกับดูแล และส่วนที่เหลือเป็นการออกแบบเชิงยุทธ์และนวัตกรรม (Strategic Design and Innovation: SDI) โดยมีนักออกแบบมือดีอย่าง Harmut Esslinger มาสนับสนุน

 

 

 

จากคำอธิบายของทีมงาน พบว่า ในแต่ละเทอม นักศึกษาจะได้รับการบ้านเป็นงานเดี่ยวและหรืองานกลุ่มเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์บนแนวคิดหลัก (Theme) ที่อาจารย์ประจำวิชากำหนดขึ้น โดยงานออกแบบในส่วนนี้ให้ความสำคัญกับแนวคิด 3Ds อันได้แก่ Discover, Design และ Define จึงนับเป็นการเรียนรู้เบื้องลึกของการออกแบบที่ดีของโลกอนาคตสำหรับนักศึกษา

 

ชั้นที่ 5 เป็นพื้นที่ของหลักสูตร Musical Theatre Performance (MTP) โดย Dun Li หลักสูตรกีตาร์คลาสสิกสเปน (Spanish Classical Guitar: SCG) โดย Josep Henriquez และอีกส่วนหนึ่งเป็นของหลักสูตร Branding Identity and Public Space (BIPS) โดยมี Min Wang และ Michel de Boer ซึ่งเป็นผู้นำด้านการออกแบบเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกันกำกับดูแล

 

ชั้นที่ 6 เป็นของหลักสูตร Themed Environment Design (TED) โดยมี Tina Hart และ Kim Jarrett ร่วมกันกำกับดูแล ขณะที่

ชั้นที่ 7 ก็แบ่งออกเป็นสองส่วน ด้านในตัวอาคารเป็นพื้นที่ห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือด้านการออกแบบที่มีชื่อเสียงแล้ว บรรยากาศโดยรวมก็ยังเย้ายวนและดูผ่อนคลาย โดยตกแต่งด้วยโทนสีขาว เก้าอี้โซฟาสีแดง และต้นไม้จริงสอดแทรกเป็นจุดๆ อีกส่วนหนึ่งเป็นสวนลอยฟ้ากลางแจ้งที่นำเอาพืชพันธุ์ต้นไม้จากนิวซีแลนด์มาปลูกตกแต่ง พร้อมภูเขาจำลองและนํ้าตกที่ถอดแบบมาจากจางเจียเจี้ย หุบเขารูปทรงพิศดารที่เป็นต้นแบบงานแอนนิเมชั่นของภาพยนตร์เรื่อง Avatar ที่โด่งดังเมื่อหลายปีก่อน

 

ชั้นที่ 8 เป็นโซนของ Technoetic Arts ภายใต้การบริหารหลักสูตรของ Roy Ascott และชั้นที่ 9 เป็นพื้นที่ด้านการออก แบบสถาปัตยกรรมเชิงนิเวศ (Ecological Architecture Design: EAD) ซึ่งเมื่อเดินเข้าไป ก็จะเห็นตัวอย่างชิ้นงานออกแบบสำคัญมากมายของ Haim Dota ผู้ออกแบบสะพานกระจกลอยฟ้าที่จางเจียเจี้ย 

 

ทั้งนี้ ชั้น 11-15 เป็นพื้นที่ของสำนักงานบริหารและห้องประชุม โดยมีชั้นเรียนบางส่วนเข้าไปแฝงกายอยู่ที่ชั้น 12 ในกรณีที่ห้องเรียนที่จัดเตรียมไว้ในแต่ละหลักสูตรไม่เพียงพอ