ธ.ก.ส. เผย ข้าว -ยางพารา- เนื้อหมู แนวโน้มราคาพุ่ง

02 ก.ย. 2563 | 10:35 น.

ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. เผย ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง และเนื้อหมู มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้่นในเดือนกันยายน 63 ขณะที่ ข้าวเปลือกเหนียว น้ำตาลทรายดิบ ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม คาดราคาปรับลดลง

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนกันยายน 2563 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 9,336-9,595 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.16-3.97 % เนื่องจากขาดแคลนข้าวระดับคุณภาพ 5% ในตลาดโลก  


จากการที่ประเทศจีนประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง ขณะที่ประเทศอินเดียประสบปัญหาน้ำท่วมและการระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงที่สุดในทวีปเอเชีย ทำให้เกิดปัญหาการขนส่งข้าวเพื่อส่งออก อีกทั้งประเทศเวียดนามก็ประสบปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 จึงเกิดการกักตุนข้าวในประเทศ

 
ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,531-14,636 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.32-1.05 %  เนื่องจากความกังวลผลผลิตข้าวในฤดูถัดไปอาจลดลงจากภาวะฝนตกหนักในแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะสูงขึ้นกว่าค่าปกติประมาณ 5 % 


ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.59-7.63 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.00-1.50 % เนื่องจากมี ฝนตกชุกต่อเนื่อง เกษตรกรจึงชะลอการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับมาตรการรัฐที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 อาทิ การบริหารจัดการการนำเข้าและการดูแลความเป็นธรรมในการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะมีส่วนสำคัญในการรักษาระดับราคาให้สูงขึ้น  
 

ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 41.50 – 42.25 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.36 – 2.18 % เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับ เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจึงส่งผลดีต่อความต้องการใช้ยางพารา อีกทั้งคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดลดลงจากภาวะฝนตกชุกซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยางพารา


มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.73-1.78 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.58 – 3.49 % เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิต ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการลานมันเส้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูมรสุมที่มีฝนตกชุกและบางพื้นที่การผลิตประสบปัญหาอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพแป้งในหัวมันสด อาจทำให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ปรับลดลง 


สุกร ราคาอยู่ที่ 78.08–79.26 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.64–2.17 % เนื่องจากประเทศที่บริโภคสุกรรายใหญ่ของโลกประสบปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อาทิ ประเทศจีนและประเทศเวียดนาม จึงมีคำสั่งซื้อเพื่อนำเข้าสุกรจากไทยเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 15,376-15,377 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน  0.38-0.40 % เนื่องจากผู้ประกอบการระบายผลผลิตข้าวเหนียวในสต็อกคงค้างของปีก่อนออกสู่ตลาดเพื่อรองรับผลผลิตฤดูกาลใหม่ 


น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 12.70-12.77 เซนต์/ปอนด์ (8.80-8.85 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน 0.50-1.00 % เนื่องจากคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลทางภาคกลาง-ใต้ของประเทศบราซิล ในปี 2563/64 เพิ่มขึ้น  12.26 %  และโรงงานน้ำตาลของประเทศบราซิลจะนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็น 46.4 % จาก  34.9 % จากราคาและความต้องการเอทานอลที่ลดลงประกอบกับกลุ่มกองทุนเก็งกำไร มีโอกาสที่จะขายตั๋วซื้อน้ำตาล หากภาวะน้ำตาลในตลาดโลกยังมีน้ำตาลส่วนเกินอยู่มาก  

 

ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 3.35-3.45 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน 3.09 – 5.90 % เนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงมาตรการระบายสต็อกน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ชะลอโครงการออกไป เป็นปัจจัยกดดันราคารับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรให้ปรับตัวลดลง 


 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 139.00–140.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน 0.71–1.42 %  เนื่องจากสถานการณ์ราคากุ้งในตลาดโลกลดลง เป็นปัจจัยกดดันให้ราคากุ้งในประเทศลดลงด้วย โดยคาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 20,000 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 


ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศ  ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การประกาศวันหยุดชดเชยสงกรานต์ในช่วงต้นเดือนกันยายนจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคากุ้งปรับเพิ่มขึ้นได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง