หวั่น “ปรีดี” ลาออก การเมืองทุบซ้ำศก. - เชื่อมั่นนักลงทุน

01 ก.ย. 2563 | 10:27 น.

โบรกเผย “ปรีดี” ลาออกรมว.คลังกระทบภาพรวมเชื่อมั่น ชี้นักลงทุน-ประชาชนกังวลรอยต่อมาตรการช่วยเหลือของธปท.หมดลง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่อาจล่าช้า เสี่ยงเศรษฐกิจครึ่งปีหลังชะลอลง

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงกรณีนายปรีดี ดาวฉาย ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการคลัง ว่า ประเด็นดังกล่าวมีผลลบต่อบรรยากาศภาพรวมแน่นอน เนื่องจากนักลงทุนและประชาชนมีความกังวลต่อฐานะเงินคงคลัง การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) และแนวโน้มการขยายตัวของจีดีพีในอนาคต รวมถึงความกังวลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นต้องเร่งใช้จ่าย อีกทั้งมาตรการพิเศษที่ต้องออกมาในช่วงรอยต่อของการหมดความช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี เนื่องจากการเป็นรมว.คลังในภาวะปัจจุบันที่ต้องเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่จากความขัดแย้งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่นายปรีดีไม่สามารถปรับตำแหน่งข้าราชการได้เอง และนายกรัฐมนตรีไม่ส่งสัญญาณปกป้อง สะท้อนให้เห็นว่า รมว.ที่มาจากคนนอก ไม่มีบารมีทางการเมืองมาก่อน ถึงแม้จะเสียสละเข้ารับตำแหน่ง แต่เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนก็ทำให้งานออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังได้

“ปัจจุบันนักลงทุนหรือแม้แต่ประชาชนเอง ก็มีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว ทั้งตอนนี้และอนาคต โดยเฉพาะช่วงรอยต่อที่กำลังหมดลงของมาตรการช่วยเหลือจากธปท. เมื่อไม่มีรมว.คลัง จึงเป็นความเสี่ยงในการขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้น ทำให้เกิดการผลักดันไม่เต็มที่ หรืออาจจะล่าช้า มีโอกาสที่ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอลงอีก”

ขณะที่ ภาพรวมการลงทุนทั่วโลกไม่ย่ำแย่ จากสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้การที่ดัชนีหุ้นจะปรับลงแรงเกิดขึ้นได้ยาก แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังกระจุก โดยเฉพาะหุ้นไทยที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังอิงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สวนทางกับหุ้นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มเทคโนโลยี แต่เป็นหุ้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐกับจีน 

ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนตอนนี้ นักลงทุนต้องพิจารณาหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดี ไม่ควรลงทุนแบบเหวี่ยงแห หรืออิงดัชนีไม่ได้ เพราะดัชนีหุ้นไทยปัจจุบันยังห่างไกลกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1,500 จุด นอกจากนี้ ให้พิจารณาหุ้นรายกลุ่มที่ปรับขึ้นได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เกษตรและอาหาร และประกันภัย  และกลุ่มที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวได้หลังจากนี้