เดินรถไฟฟ้า ‘สายสีทอง’ที่ดิน ‘คลองสาน’  พุ่ง 5เท่า

29 ส.ค. 2563 | 01:06 น.

 ที่ดินเขตคลองสาน ย่านฝั่งธนฯ พุ่ง 5 เท่า เฉลี่ย 1 แสน ปี 54 เป็น 5 แสน อานิสงส์ รถไฟฟ้าสายสีทอง เฟสแรก เชื่อม บีทีเอสสายสีลม วิ่งเข้าเมือง 29 ต.ค. ผังกทม.ชูซับซีบีดี ย่านพาณิชยกรรมย่อย พัฒนาตึกสูงใหญ่เต็มพิกัด

 

 

 

 

 รถไฟฟ้าสายสีทอง เริ่มทดสอบเดินรถ และมีแผนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ วันที่ 29 ตุลาคม 2563 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีกรุงธนบุรี เข้าสู่ใจกลางเมืองย่านธุรกิจสำคัญ อย่างสีลม สาทร ได้สะดวกรวดเร็ว จากที่ผ่านมาต้องใช้เส้นทางทางเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือไม่ต้องฝ่าการจราจรมหาโหด ผ่านเส้นทางทางถนน-สะพาน กว่าจะเดินทางสู่เป้าหมายยังฝั่งพระนครต้องใช้เวลานาน

 อย่างไรก็ตามแม้สายสีทองเป็นเพียง “ฟีดเดอร์” หรือระบบขนส่งมวลชนรอง ระยะแรก 1.8 กิโลเมตร มีเพียง สถานีสั้นๆ ประกอบด้วย 1. สถานีกรุงธนบุรี ตัดบีทีเอสสีเขียวสายสีลม 2. สถานี เจริญนคร และ 3. สถานีคลองสาน สร้างความมั่งคั่งกระจายความเจริญเข้าสู่พื้นที่ ผังเมืองกรุงเทพมหานคร ใหม่ ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นพื้นที่สีน้ำตาล ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากเพิ่มพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) ให้เป็นย่านพัฒนาเชิงพาณิชย์ย่อย หรือซับซีบีดีที่ขยายจากย่านสีลม สาทร ย่านซีบีดีหลัก ข้ามฝั่งมาพร้อมกับรถไฟฟ้าเส้นนี้ ตึกเก่าทรุดโทรมกลายเป็นคอนโดมิเนียม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เกิดขึ้นคึกคักโดยเฉพาะริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถเชื่อมโยงการใช้ชีวิต ระหว่างคนฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร ได้อย่างไร้รอยต่อ มองว่านับจากนี้หากต้องการเดินทางจากแหล่งงานขนาดใหญ่ใจกลางเมืองใช้เวลา เพียง 20 นาที ข้ามฝั่งมายังที่พักอาศัย เขตคลองสานได้อย่างไรข้อจำกัด

เดินรถไฟฟ้า ‘สายสีทอง’ที่ดิน ‘คลองสาน’  พุ่ง 5เท่า

 ขณะราคาที่ดินปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์จากห้างยักษ์ไอคอนสยาม ผสมโรงกับการมาของรถฟ้าสายสีทอง จุดพลุทำเลทองให้ย่านคลองสาน ราคาที่ดินปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว 5 เท่า ทำเลติดแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุดเฉลี่ยกว่า 5 แสนบาทต่อตารางวา ขณะปี 2554 ราคาเพียง 100,000 บาทต่อตารางวาเท่านั้น สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของนายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด ที่ระบุว่า

 

 

 

 ราคาที่ดินในพื้นที่คลองสานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากราคาประมาณ 100,000-150,000 บาทต่อตารางวาในปีพ.ศ. 2554 ขึ้นไปถึง 400,000-500,000 บาทต่อตารางวาสำหรับที่ดินติดแม่น้ำเจ้าพระยา และประมาณ 300,000-400,000 บาทต่อตารางวา สำหรับที่ดินไม่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองเข้ามาเป็นปัจจัยเสริม

 ทั้งนี้ คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้นแบบชัดเจนหลังจากปี 2557 เป็นต้นมา เนื่องจากนับตั้งแต่ปี2558-2563 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่ประมาณ 1,487 หน่วย และตลอดแนวเส้นทาง 3 สถานี ตั้งแต่สถานีกรุงธนบุรี-คลองสาน มีคอนโดมิเนียมสะสมอยู่ที่ประมาณ 4,291 หน่วย และมีอีกประมาณ 170 หน่วยมีแผนจะเปิดขายในพื้นที่ โดยคอนโด มิเนียมในพื้นที่ขายไปได้ค่อนข้างมาก คือมีอัตราการขายเฉลี่ยที่ประมาณ 90% เพราะส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เปิดขายมามากกว่า 2 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทดสอบ วิ่งแล้ว ! รถไฟฟ้า "สายสีทอง "

‘สายสีทอง’ เดินรถต.ค.นี้ ปลุกย่านฝั่งธนบุรีคึกคัก

 ด้วยศักยภาพของพื้นที่ซึ่งสามารถมองเห็นและสัมผัสได้ในปัจจุบันจึงมีผลให้โครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่ได้รับความสนใจรวมไปถึงปิดการขายไปหลายโครงการ ยกเว้นโครงการที่มีราคาขายมากกว่า 300,000 บาทต่อตารางเมตร เพราะราคาขายเฉลี่ยในพื้นที่ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 195,000 บาทต่อตารางเมตร แต่ก็ยังคงมีคอนโดมิเนียมราคาขายต่ำกว่า 120,000 บาทต่อตารางเมตรอยู่เช่นกันเพียงแต่เป็นคอนโดมิเนียมมือสองที่เปิดขายมาหลายปีก่อนหน้านี้

 อย่างไรก็ตามการลงทุน ระบบชนส่งมวลชนทางรางยังมีต่อเนื่อง รองรับการขยายตัวของเมืองและการเติบโตของที่อยู่อาศัย ในย่านฝั่งธนฯ สำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีทอง แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) ระบุว่า เริ่มจากช่วงที่ 1 สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-สะพานพุทธ เป็นเส้นทางยกระดับความสูง 14-17 เมตรจากระดับดินไปตามแนวถนน โดยแบ่งออกได้อีก 2 ระยะดังนี้ “ระยะที่ 1” แนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากสถานีกรุงธนบุรี ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม เบี่ยงเข้าถนนกรุงธนบุรีทางซ้ายบริเวณปลายสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเจริญนครฝั่งเหนือ ผ่านวัดสุวรรณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม สำนักงานเขตคลองสาน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านโรงพยาบาลตากสิน และไปสิ้นสุดที่สถานีคลองสาน ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มในอนาคต ที่จะเปิดให้บริการเดือนตุลาคมนี้

 

 

 

 และ “ระยะที่ 2” ที่จะก่อสร้างเร็วๆนี้ แนวเส้นทางจะวิ่งตรงต่อไปตามแนวถนนสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนจันทรวิทยา วัดอนงคารามวรวิหาร และวัดพิชยญาติการามวรวิหาร สิ้นสุดบริเวณแยกสมเด็จเจ้าพระยา-ประชาธิปก บริเวณด้านหลังอนุสรณสถานสมโภช 100 ปี เขตคลองสาน รวมระยะทางทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ประมาณ เกือบ 5 กิโลเมตรเป้าหมายรองรับการเดินทาง 50,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,604 วันที่ 27 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563