กลุ่มทรูปรับกลยุทธ์คอนเทนต์เจาะทุกกลุ่มผู้ชม

21 ส.ค. 2563 | 06:25 น.

กลุ่มทรู ขยับพร้อมปรับตัว รับมือพฤติกรรมคนดู วางกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ นำเสนอผ่านแพลทฟอร์มตรงใจ พร้อมเดินหน้าปั้นคอนเทนท์สร้างรายได้ทั้งในและต่างประเทศ

นายองอาจ ประภากมล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านมีเดีย  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจคอนเทนท์ในงานสัมมนา Thailand in View ที่จัดโดย AVIA Asia Video Industry Association  เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า กลุ่มทรูในฐานะผู้นำด้านพรีเมียมคอนเทนท์ระดับประเทศ ได้คัดเลือกคอนเทนท์คุณภาพจากทั่วโลก ทั้งภาพยนตร์ กีฬา ข่าว และรายการบันเทิง นำเสนอผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกทรูวิชั่นส์ ที่มี ฟรีทีวี ช่องทรูฟอร์ยู และช่องข่าว TNN16 รวมถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่าง True ID โดยจัดสรรคอนเทนต์ให้ยริการในช่องทางที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย อาทิ คอนเทนต์ระดับพรีเมียมและรายการถ่ายทอดสดเอ็กคลูซีฟต่างๆ จะเน้นสมาชิกทรูวิชั่นส์ที่ต้องการรับชมคอนเทนท์ลักษณะเฉพาะ  สำหรับช่องทรูฟอร์ยู และ TNN ซึ่งเป็นช่องฟรีทูแอร์ จะเลือกนำเสนอรายการที่ตรงใจกลุ่มผู้ชมแมส 

 

สำหรับแอปพลิเคชั่นทรูไอดี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม OTT ได้นำเสนอพรีเมียมคอนเทนท์ เช่น ถ่ายทอดสดฟรีบางแมทช์ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีบริการ TVOD (Transactional video on demand)  บริการ SVOD (Subscription video on demand) มีคอนเทนท์ที่ดูย้อนหลังได้จากช่องพรีเมียม สำหรับลูกค้าทรูวิชั่นส์ มี AVOD (Advertising video on demand) และคอนเทนท์ที่มาจาก UGC (User generated content) 

รวมถึงยังใช้ทรูไอดี เป็นช่องทางนำเสนอตัวอย่างรายการ เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการสู่แพลทฟอร์มอื่นๆ ตึงมีการนำเสนอคอนเทนท์ในรูปแบบ Short-Form และช่องรายการของทรูวิชั่นส์ ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับชมผ่านแอปทรูไอดี 

 

กลุ่มทรู ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งการผลิตคอนเทนท์สำหรับผู้ชมในประเทศ อย่างการถ่ายทอดสดกีฬาไทยลีก หรือรายการกีฬาอื่นๆ เช่นวอลเลย์บอล ปิงปอง รวมทั้งเป็นผู้สนับสนุนกีฬาในประเทศที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมชาวไทย อีกทั้งกลุ่มทรู ก็เป็นผู้ผลิตรายการบันเทิง รายการข่าว ช่องข่าว 24 ชั่วโมงช่อง TNN16 รวมถึงรายการบันเทิง วาไรตี้ ซีรีส์ ตลอดจนเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมผลิตคอนเทนท์กับผู้ผลิตต่างประเทศเช่นเกาหลี คือ CJ ENM โดยปัจจุบันได้มีการผลิตซีรี่ส์ประมาณ 5-6 เรื่องต่อปี ที่นอกจากจะนำมาออกอากาศให้ลูกค้าสมาชิกของเราแล้ว ยังขายในตลาดต่างประเทศ  รวมถึงมีให้บริการบน Netflix

นายองอาจ กล่าวว่า ความนิยมของคอนเทนท์ในรูปแบบ Short-Form จากกลุ่ม User-Generated content (UGC) ที่ดึงดูดผู้ชมนั้น ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อความต้องการบริโภคคอนเทนท์ที่มีเนื้อหายาว หรือ Long-Form เพราะคอนเทนท์สั้น ๆ อาจเป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ทรูวิชั่นส์ ในฐานะผู้ให้บริการ PayTV ก็ยังเชื่อมั่นว่าคอนเทนท์ยาว ๆ อย่างการถ่ายทอดกีฬา ภาพยนตร์ ซีรี่ส์ หรือช่องข่าว ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่บนแพลตฟอร์ม เพย์ทีวี และฟรีทีวี

 

เเม้เทรนด์ของการให้บริการคอนเทนท์จะปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบ SVOD และ AVOD ที่ให้ผู้ชมได้เลือกชมได้มากขึ้น แต่เราก็ยังเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ธุรกิจเพย์ทีวีก็จะยังคงอยู่แต่อาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบไป การนำเสนอบริการสู่กลุ่มเป้าหมายกลุ่ม Gen Z Gen Y และ Alpha ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นในปัจจุบัน กลุ่มผู้ชมเหล่านี้มีความสนใจที่จะรับชมคอนเทนท์ในรูปแบบ On-Demand มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความสะดวกสบายที่สามารถรับชมได้ทุกที่ทุกเวลาและที่ไหนก็ได้ตามแต่ไลฟ์สไตล์ของผู้ชม ขณะที่กลุ่มผู้ชมปัจจุบันแบบดั้งเดิมยังคงนิยมในคอนเทนท์แบบฉายตามตารางออกอากาศ (Linear TV) ทางทรูวิชั่นส์เราก็จะมีการเพิ่มเติมคอนเทนท์ในรูปแบบ On-Demand เพื่อให้ลูกค้าได้สามารถเลือกรับชมความบันเทิงเพิ่มเติมได้ทุกที่ทุกเวลาซึ่งนี่คือแนวทางธุรกิจที่ทรูวิชั่นส์จะก้าวเดินต่อไปเพื่อตอบกับการความต้องการรับชมของคนรุ่นใหม่