สภาชงรายงาน“นิรโทษกรรม”ให้รัฐบาล

19 ส.ค. 2563 | 11:59 น.

สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบส่งรายงานแนวทางสร้างความปรองดอง ซึ่งมีข้อเสนอให้ “นิรโทษกรรม” คดีชุมนุมทางการเมืองรวมอยู่ด้วยให้รัฐบาลพิจารณา

 

ข้อเสนอการ "นิรโทษกรรม" คดีชุมนุมทางการเมือง ยกเว้นคดีทุจริต คดีมาตรา 112 ของคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร และเตรียมส่งให้รํฐบาลดำเนินการต่อไปแล้ว

 

 

วันนี้(19 ส.ค.63) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธาน เพื่อพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมา  

 

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายว่า เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และการ  “นิรโทษกรรม” ที่ควรทำเฉพาะกรณีความผิดทางการเมือง ส่วนกองทัพก็ไม่ควรทำรัฐประหาร ให้ทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติอย่างเดียว ขณะที่เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ควรให้กระบวนการทางการเมืองแก้ปัญหากันเอง

 

ภายหลังที่ประชุมสภาฯ ได้อภิปรายกันพอสมควร โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับรายงานตามที่กรรมาธิการฯ เสนอมา ทั้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ และการ “นิรโทษกรรม” ผู้กระทำผิดในคดีที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

เปิด 9 ข้อเสนอ ปรองดอง-นิรโทษกรรม ฉบับกมธ.กฎหมายฯ

บิ๊กตู่ดัน "นิรโทษกรรม" คดีการเมือง ปลดล็อกประเทศ เว้นทุจริต

ส.ว.ชง “นายกฯ” นิรโทษกรรม ชุมนุมทางการเมือง

หนุน "นิรโทษกรรม" บิ๊กข่าวกรอง แนะลุงตู่ลุยออกกฎหมาย

ภาคเอกชนหนุนนายกฯ นิรโทษกรรม สร้างปรองดอง เชื่อเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

 

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ลุกขึ้นเสนอว่า รายงานอาจจะดูสั้น แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดอง อย่างไรก็ตาม บางครั้งคนอยากสร้างความปรองดอง แต่ก็สร้างความปรองดองไม่ได้

 

“วันนี้เราจึงต้องรับทั้งข้อสังเกต และคำอภิปรายของสมาชิกทุกคน ส่งไปให้รัฐบาลเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ เราต้องสร้างความปรองดองในสภาฯ ก่อน โดยขอเสนอให้ใช้ข้อบังคับข้อที่ 88 เพื่อให้สภาฯ เกิดความเรียบร้อย”

 

ด้านนายสุชาติ กล่าวว่า เมื่อไม่มีใครคัดค้าน ขออนุญาตใช้ข้อบังคับข้อที่ 88 ถือว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานของกรรมาธิการฯ และเห็นชอบกับข้อสังเกตที่จะส่งให้กับรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการโดยไม่มีการลงมติ