ปิดฉาก 5 ปี ส.ว.ลากตั้ง ปั้น 2 นายกฯ คว่ำ 1

10 พ.ค. 2567 | 03:47 น.

ปิดฉาก 5 ปี ส.ว.ลากตั้ง ปั้น 2 นายกฯ คว่ำ 1 : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3991  

KEY

POINTS

 

  • ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. หมดวาระลงวันที่ 10 พ.ค. 2567 นี้ แต่จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี ส.ว.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

 

  • ผลงาน ส.ว.ที่น่าสนใจ คือร่วมโหวตแต่งตั้ง นายกฯ 2 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คนที่ 29 สมัย 2 และ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ คนที่ 30 และ โหวตคว่ำ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทำให้อดเป็นนายกฯ

 

  • นับจากนี้ไปเข้าสู่โหมดเฟ้นหา ส.ว.ชุดใหม่แล้ว อีกราว 50 วัน จะได้เห็นโฉมว่าใครบ้างจะพาเหรดเข้าสู่สภาสูง
     

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. ได้หมดวาระในวันที่ 10 พ.ค. 2567 แต่จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี ส.ว.ชุดใหม่ ที่มาตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เข้ารับหน้าที่

ทั้งนี้ ตามไทมไลน์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนดไว้ เส้นทางการได้ ส.ว.ชุดใหม่ จำนวน 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ จะเป็นดังนี้ 

วันที่ 10 พ.ค. กกต.เปิดให้รับใบสมัคร ส.ว.ทั่วประเทศ, วันที่ 11 พ.ค. คาดว่า พ.ร.ฎ.คัดเลือก ส.ว. มีผลบังคับใช้, วันที่ 13 พ.ค. เป็นวันรับสมัคร ส.ว., 9 มิ.ย.เป็นวันเลือก ส.ว.ระดับอำเภอ, 16 มิ.ย. เป็นวันเลือก ส.ว.ระดับจังหวัด, 26 มิ.ย. เป็นวันเลือก ส.ว.ระดับประเทศ และ วันที่ 2 ก.ค. 2567 เป็นวันประกาศรับรองผลการเลือก ส.ว.

ผลงานส.ว.ชุด คสช.

สำหรับ 5 ปีของ ส.ว. ชุดที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.นั้น พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา สรุปผลงานว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.  2562 ถึง 9 เม.ย. 2567 มีการประชุมไป 258 ครั้ง ใช้เวลา 1,579 ชั่วโมง 55 นาที 

ผลงานด้านกฎหมาย ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ. รวม 54 ฉบับ แบ่งเป็นที่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนฯ 37 ฉบับ, ที่แก้ไขเพิ่มเติมและสภาฯ เห็นชอบกับการแก้ไขของ ส.ว. 10 ฉบับ, ส.ว. และ ส.ส. เห็นชอบด้วยกับร่างที่กมธ.ร่วมกันพิจารณา 4 ฉบับ นอกจากนั้น ยังมีการอนุมัติพระราชกำหนด 14 ฉบับ ส่วนผลงานด้านกระทู้ถาม ส.ว.ตั้งกระทู้ถามรวม 588 กระทู้ 

นอกจากนั้น พิจารณาเลือกหรือให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นกำหนด 58 ครั้ง, พิจารณารายงานการศึกษาของกรรมาธิการ 363 เรื่อง, พิจารณารายงานประจำปีของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ 225 เรื่อง, พิจารณาญัตติ 27 เรื่อง, ติดตามรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ  และรายงานสรุปการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 24 เรื่อง

ส.ว.ตั้ง 2 นายกฯ คว่ำ 1

อย่างไรก็ตาม ผลงานที่น่าสนใจที่สุดของ “ส.ว. ชุด คสช.” คือ การร่วมโหวตลงมติให้ความเป็นชอบบุคลลได้เป็น “นายกฯ” 2 คน และ “ไม่สนับสนุนให้เป็นนายกฯ” 1 คน ดังนี้

วันที่ 5 มิ.ย. 2562 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) มีมติ 500 ต่อ 244 เสียง เห็นชอบ ให้ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นนายกฯ คนที่ 29 ในสมัยที่ 2  

โดยมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ท่วมท้น ไม่มีแตกแถว 249 เสียง มีเพียง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา คนเดียวที่งดออกเสียง เพราะต้องทำหน้าที่ประธานที่ประชุม

ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอนาคตใหม่ ที่มี 7 พรรคสนับสนุน ได้เพียง 244 เสียง 

ต่อมาวันที่ 22 ส.ค. 2566 รัฐสภามีมติ 482 ต่อ 165 เสียงเห็นชอบ ให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ จากบัญชีของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ คนที่ 30 โดยมี ส.ว.โหวตเห็นชอบ 152 เสียง ไม่เห็นชอบ 13 เสียง และงดออกเสียง 68 เสียง

ก่อนหน้านั้น ในการโหวตเลือกนายกฯ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งชนะเลือกตั้ง เมื่อ 14 พ.ค. 2566 กวาดส.ส. 151 คน จนได้เป็นแกนนำรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค รวม 312 เสียง แต่ “ถูกคว่ำกลางสภา” เพราะ พิธา ไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ได้ครบ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

วันที่ 13 ก.ค. 2566 รัฐสภาจึงมีมติ “ไม่เห็นชอบ” ให้ พิธา ได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 324 ต่อ 182 งดออกเสียง 199 เสียง มี ส.ว. เพียง 13 คนเท่านั้นที่โหวตให้ มี ส.ว. 159 คน งดออกเสียง  ส.ว.ขาดประชุม-ไม่มาลงคะแนน 43 คน และ ไม่เห็นชอบ 34 คน

เหตุผลที่ทำให้ พิธา วืดเก้าอี้นายกฯ ส.ว.ส่วนใหญ่ติดใจใน นโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติ ส.ส. จากกรณีถือครองหุ้นสื่อ บมจ.ไอทีวี ที่มีผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

                                    ปิดฉาก 5 ปี ส.ว.ลากตั้ง ปั้น 2 นายกฯ คว่ำ 1

ราว 50 วันได้ส.ว.ชุดใหม่

ตามไทม์ไลน์อย่างเร็วที่สุด วันที่ 2 ก.ค. 2567 นี้ ประเทศไทยจะมี ส.ว.ชุดใหม่ 200 คน มีวาระ 5 ปี 

แม้ไม่มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ อีก แต่อำนาจอื่นๆ ยังมีอยู่ครบ ทั้งร่วมกับ ส.ส.พิจารณาเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, พิจารณากฎหมายลูกกลั่นกรองพ.ร.บ.งบประมาณ-พระราชกำหนด
ทั้งให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, องค์กรอิสระ ป.ป.ช.-กกต.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน

นับจากนี้ไปเข้าสู่โหมดเฟ้นหา “ส.ว.ชุดใหม่” แล้ว อีกราว 50 วัน จะได้เห็นโฉมว่าใครบ้างจะพาเหรดเข้าสู่สภาสูง

                                  ++++++++


เปิดอำนาจ ส.ว. ล้นฟ้า 

ในวันที่ 2 ก.ค. 2567 เป็นไทมไลน์ที่คณะกรรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้เป็นวันประกาศผลรับรองการคัดเลือก สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 200 คน ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หลังจาก ส.ว.250 คน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ครบวาระ 5 ปี ในวันที่ 11 พ.ค. 2567 

สำหรับหน้าที่และอำนาจของ ส.ว.200 คน ถึงแม้จะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เหมือนกับ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล แต่ก็ยังมี “อำนาจล้นฟ้า” เพราะมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ เป็นองค์กรชี้ขาดการอยู่-การไปของนักการเมือง-รัฐบาล 

การพิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมาย ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส.และ ส.ว.) และการพิจารณากฎหมายหลังจาก ส.ส.พิจารณากฎหมายในวาระที่สามแล้ว 

-ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ โดยวาระที่หนึ่งและวาระที่สองต้องใช้เสียงข้างมาของรัฐสภา ส่วนวาระที่สามใช้เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา 

-ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ, ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม, ร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย 

-อนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้แก่ พ.ร.ก.ทั่วไป พ.ร.ก.เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา 

-การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา การใช้เสียงเห็นชอบในวาระที่หนึ่ง และ วาระที่สาม ต้องมี ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดของ ส.ว.

-การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 มาตรา 153 มาตรา 155 เกี่ยวกับการทำงานของรัฐมนตรี โดยจะถามเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ 

-ตั้งกระทู้ถาม

-การเปิดอภิปรายทั่วไป ในวุฒิสภา ตามมาตรา 153 โดยมีสิทธิ์เสนอชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ

-การเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา ตามมาตรา 155 กรณีมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย หรือ เศรษฐกิจของประเทศ โดยประชุมลับแต่ลงมติไม่ได้ 

-การตั้งกรรมธิการ มีอำนาจเรียกเอกสาร หรือ เรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริง 

การให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง ในองค์กรอิสระ ตุลาการ แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนออกจากตำแหน่ง ได้แก่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ