ภาคเอกชนหนุนนายกฯ นิรโทษกรรม สร้างปรองดอง เชื่อเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

17 มิ.ย. 2563 | 04:15 น.

บิ๊กเอกชน-นักวิชาการ ประสานเสียงหนุนนิรโทษกรรมทางการเมือง หวังช่วยสร้างความปรองดอง เคลื่อนประเทศไปข้างหน้าหลังโควิดคลี่คลาย “หมอบุญ”ชี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ “ดร.สมชาย” ขอรัฐอย่าเลือกปฏิบัติ

การชุมนุมทางการเมืองที่แม้จะเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย แต่หลายครั้งก็เลยเถิด กลายเป็นการทำผิดกฎหมาย สร้างปมความขัดแย้งไม่รู้จบของฝ่ายที่เห็นต่าง ซึ่งความรุนแรงทางการเมือง ส่งผลให้ประเทศชาติเสียหาย เศรษฐกิจประเทศติดหล่ม แกนนำถูกฟ้องร้อง คดีความยืดเยื้อ เป้าหมายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ยากที่จะสัมฤทธิผล ทั้งนี้หากมีการนิรโทษกรรมทางการเมืองได้ ผู้นำภาคธุรกิจเห็นพ้องจะส่งผลดีกับประเทศ

 

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การนิรโทษกรรมทางการเมืองถือเป็นเรื่องใหญ่ หากเกิดขึ้นจริงมองว่าเป็นเรื่องดีสำหรับภาคธุรกิจ และประเทศชาติที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องมาพะวงที่จะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง จากเวลานี้เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้านทั้งโควิด-19 ผู้คนตกงาน ธุรกิจมีปัญหาขาดสภาพคล่อง ภาคผลิต การค้า การลงทุนสะดุด ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าวิกฤตินี้ไปให้ได้

 

“การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องทางการเมืองโดยหลักการถ้าไม่มีการทะเลาะกันหรือมีเหตุการณ์ทาง การเมืองที่นำไปสู่การฟ้องร้องกันก็จะส่งผลดีต่อประเทศใครก็อยากมาทำการค้าการลงทุนด้วยถ้ามีการนิรโทษกรรมก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี”

 

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังให้ความเห็นอะไรไม่ได้มากนัก ซึ่งหากมีการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ทำผิดกฎหมายจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ต้องขอดูในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร จะให้ความเห็นได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ดีที่ผ่านมามีการชุมนุมทางการเมืองซึ่งถือเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่หลายครั้งเกิดความรุนแรง มีการชุมนุมปิดสนามบิน ปิดสถานที่ราชการ และอื่นๆ กระทบภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในเรื่องความไม่ปลอดภัย ทำให้เศรษฐกิจประเทศเสียหาย

 

เชียร์เร่งนิรโทษ 

ด้าน น.พ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมกาบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือTHG กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลมีแนวคิดออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้กับกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนการลงทุนอย่างไม่มีสะดุดในระยะยาว แต่ทั้งนี้กฎหมายจะครอบคลุมคดีใดบ้าง รัฐบาลต้องระบุออกมาอย่างชัดเจน

 

“เชื่อว่าคนไทยต้องการความสงบสามัคคี ในชาติ ไม่ต้องการเห็นการแบ่งแยกแบ่งสีเหลือง-แดงอีก เพราะแต่ละครั้งที่เกิดความขัดแย้ง มีการชุมนุมยืดเยื้อ เกิดเหตุรุนแรง ทำให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ชะงัก นักท่องเที่ยวนักลงทุนต่างชาติไม่กล้าเข้าประเทศ หากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้จริง มองว่าจะช่วยประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ เพราะเวลานี้ ประเทศบอบซํ้ามากจากโควิด-19 หากทุกฝ่ายหันมาร่วมมือ ประคองประเทศให้พ้นวิกฤติไม่นำเรื่องการขัดแย้งทางการเมือง มาซํ้าเติมจะเป็นเรื่องที่ดี”

 

อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลถอยคนละก้าว โดยฝ่ายรัฐบาล ต้องไม่ขวาจัด ฝ่ายค้านต้องไม่ซ้ายจัด ร่วมกันพัฒนาชาติบ้านเมืองให้ไปข้างหน้า แต่ในข้อเท็จจริงคงเป็นไปได้ยาก เพราะต่างไม่มีใครเชื่อใคร ทางออกที่ดีที่สุดควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขเรื่องนี้โดยเฉพาะ เปิดให้คนสองกลุ่มเข้ามา ร่วมหารือ หาคนกลางที่ทุกฝ่ายเชื่อถือมานั่งเป็นประธาน จะช่วยขจัดปัญหาให้เบาลงได้ ที่สำคัญรัฐบาลต้องทำเรื่องนี้ให้จบโดยเร็ว

 

ขออย่าเลือกปฏิบัติ

 

ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวว่า การเมืองไทยมี การแยกขั้วซึ่งเป็นปัญหากระทบอย่างมาก ซึ่งประเด็นการแยกขั้วเกือบจะก่อให้เกิสงครามกลางเมือง หากจำกันได้ตอนที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการทำรัฐประหารเพื่อป้องกันการเกิดสงครามทางการเมือง อีกด้านหนึ่งเป็นผลพวงจากประเด็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีความเหลื่อมลํ้าระหว่างคนจนกับคนรวยมาก

 

“ ผมเห็นด้วยที่จะให้ความยุติธรรม ถึงเวลาเยียวยา แต่ควรได้รับผ่อนปรนเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าคิดต่างได้อย่างน้อยทำให้เขาเห็นคุณค่าว่าการเมืองยอมรับความ คิดเห็นแตกต่าง ซึ่งเป็นกลไกเปิดทางไปสู่การปรองดองแต่ไม่ได้หมาย ความว่าจะทำให้เกิดการปรองดองเป็นรูปธรรมในระยะสั้นๆ สิ่งที่ดีที่สุดเปิดให้เห็นสังคมการเมืองไทยยอมรับความเห็นต่างได้และคนเหล่านี้ได้รับความยุติธรรม”

 

อย่างไรก็ดี การนิรโทษกรรม ต้องมีรายละเอียด หลักเกณฑ์ชัดเจน ครอบคลุม และไม่เลือกปฎิบัติเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และที่สำคัญต้องมีการยกเว้น 2 กรณี เช่น กลุ่มใช้ความรุนแรงทำลาย และกลุ่มคอร์รัปชันจำเป็นต้องดำเนินการตามครรลองของกฎหมาย 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563