บสย.เตรียมออกวงเงินค้ำประกันสินเชื่อใหม่ 1.5 แสนล้านบาท

19 ส.ค. 2563 | 08:39 น.

บสย.เตรียมออกวงเงินค้ำประกันสินเชื่อใหม่ หรือ PGS9 ต.ค.นี้ วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท คาดช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ 100,000 คน พร้อมช่วยค้ำซอฟต์โลนธปท. ต่ออีก 8 ปี

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อ 18 สิงหาคม มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ ภายใต้วงเงินสินเชื่อและวงเงิน ค้ำประกันสินเชื่อ รวม 114,100 ล้านบาท

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.เปิดเผยว่า บสย.อยู่ระหว่างจัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล หรือ PGS9 วงเงิน 150,000 ล้านบาท เพื่อค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี โดยวงเงินดังกล่าว จะทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 1 แสนคน รายละประมาณ 1.3 ล้านบาท

บสย.เตรียมออกวงเงินค้ำประกันสินเชื่อใหม่ 1.5 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้คาดว่า โครงการ PGS9 จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วง ตุลาคมนี้  โดยในวงเงิน 150,000 ล้านบาทนั้น บสย.จะกันวงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อไว้สำหรับช่วยเหลือลูกหนี้ที่ตกชั้นเป็นหนี้เสีย (NPL) และกำลังจะตกชั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในโครงการ พักชำระหนี้ ของรัฐบาล ส่วนอีก 100,000 ล้านบาทนั้น จะเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วไป

 

“ตอนนี้เราพบว่า มียอดหนี้ของเอสเอ็มอีในระบบสถาบันการเงินที่พักชำระเงินต้นอยู่ประมาณ 6.7 ล้านล้านบาท จาก 10 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ราว 40% เป็นหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีที่อาจจะตกชั้นเป็นหนี้เสีย ขณะที่ ยอดหนี้เสียในปัจจุบันอยู่ที่ 5.98% หากบสย.ออกโครงการ PGS9 เชื่อว่า จะช่วยลดหนี้เสียลงเหลือ 5.6%”นายรักษ์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สรุปสินเชื่อแสนล้าน เยียวยาSMEs

คลังเตรียม 1.14 แสนล้าน ดูแล SMEs เพิ่มเติม

ธอส. เปิดขายทรัพย์ NPA ทั่วประเทศ 22 ส.ค.นี้

ธนารักษ์ ปล่อยเช่าที่ราชพัสดุให้เกษตรกร

ส่วนโครงการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติไป ประกอบด้วย 3 โครงการ ซึ่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดต่างๆ และให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น คือ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติตามพ.ร.ก.Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

 

โดย บสย. จะเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีตั้งแต่ปีที่ 3-ปีที่ 10 โดยอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1.75% ต่อปี นับจากวันที่ผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อ โดยค้ำประกันสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท 

 

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 หรือ บสย.เอสเอ็มอี ชีวิตใหม่ วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

 

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งจะขยายเวลาให้ยื่นอนุมัติได้ถึง 30 ธันวาคมนี้ จากเดิมสิ้นสุดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 2,500 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1-2% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

ทั้งนี้ บสย. ยังดำเนินโครงการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีก 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย.เอสเอ็มอี พลิกฟื้นท่องเที่ยว วงเงิน 3,700 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน มีวงเงินคงเหลือ 1,300 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 1,400 ราย 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start-up & Innobiz วงเงิน 8,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 3,500 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2,400 ราย

 

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย.เอสเอ็มอี ไทยชนะ ซึ่งเป็นโครงการที่ บสย.ดำเนินการเอง วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการได้ 12,000 ราย และ 4.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย.เพิ่มพูน วงเงิน 1,200 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 240 ราย

 

สำหรับผลการดำเนินงานค้ำประกันประสินเชื่อ บสย. ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มียอดวงเงินอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 115,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) แล้ว 132,434 ฉบับ เพิ่มขึ้น 233% และช่วยลูกค้าใหม่ได้รับสินเชื่อ 98,221 ราย เพิ่มขึ้น 222% ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8