‘Sputnik V’ ความหวังมนุษยชาติ​หรือฉากหน้าการเมือง

16 ส.ค. 2563 | 00:45 น.

หลังกล้องไซบีเรีย: ‘Sputnik V’ ความหวังมนุษยชาติ​หรือฉากหน้าการเมือง เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์ ภาพ: Ministry of Health of Russia     

 

          “Sputnik V” ชื่อนี้คงจะเป็นชื่อที่ทั่วโลกพูดถึงกันไปอีกนานในฐานะวัคซีนโดสแรกของโลกที่จะเข้ามาพลิกสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำเอาหน้าประวัติศาสตร์ของปี 2563 ต้องชะงักทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
 

          “วัคซีน” เป็นความหวังของหลายฝ่ายที่จะเข้ามาหยุดยั้งความเสียหายของการระบาดครั้งนี้ เนื่องจากโควิด-19 แม้หายได้ง่ายกว่าไวรัสหลายชนิด แต่สามารถกระจายได้รวดเร็วและแยบยลเกินกว่าที่จะคุมผู้ติดเชื้อให้กลายเป็น “ศูนย์”
 

          เมื่อประกาศจดทะเบียนวัคซีนชนิดแรกของโลกอย่างเป็นทางการ สปอตไลท์จากทั่วโลกจึงหันมาที่แดนหมีขาวทันที แม้การพัฒนาวัคซีนจะเป็นเป้าหมายร่วมของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ไม่ใช่การแข่งขัน แต่การรีบร้อนชิงประกาศความสำเร็จของรัสเซียทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่ารัสเซียใช้โอกาสนี้เพิ่มอิทธิพลทางเมืองโลกแบบเนียนๆ หรือเปล่า จนเกิดเป็นสงครามข้อมูลขนาดย่อมในเวทีการเมืองนานาชาติ

Gam-COVID-Vac

          อย่างแรก ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าวัคซีน “Sputnik V” แม้ว่าจะได้ขึ้นชื่อว่าได้รับการรับรองโดยหน่วยงานภายในของรัสเซียแล้ว แต่การทดลองทางคลินิกยังไม่สิ้นสุด เพิ่งผ่านการทดลองเฟสที่ 1 และเฟส 2 ไปในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมระยะเวลาพัฒนาวัคซีนทั้งหมด 5 เดือน ยังขาดการทดลองในเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นการทดลองวัคซีนในสเกลที่ใหญ่ขึ้นกับอาสาสมัครหลายพันคนในหลายๆ ประเทศเป็นเวลาอีก 4 เดือนก่อนที่จะกระจายผลิตใช้งานได้ในวงกว้าง
 

          ความรวดเร็วของกระบวนการ กลายเป็นที่สงสัยของหลายฝ่าย รัสเซียโดนตั้งคำถามโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศตะวันตกที่ตั้งคำถามกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน เรียกร้องให้รัสเซียเปิดเผยข้อมูลงานวิจัย ซึ่งรัสเซียอ้างว่านี่คือการพยายามใช้ข้อมูลป้ายสีลดความน่าเชื่อถือความสำเร็จของรัสเซีย
 

          ช่วงสัปดาห์นี้ เราจึงเห็นภาพหน่วยงานต่างๆ ของรัสเซียออกมาแก้ข่าวกันให้วุ่น เช่นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียที่ออกมาโต้ว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดไม่มีมูล ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการเร่งกระบวนการวิจัย อ้างว่าประเทศตะวันตกเพียงกลัวเสียเปรียบรัสเซีย ซ้ำยังบอกว่าความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโคโรนานั้นน่ากลัวกว่าผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีนเซียอีก ถึงอย่างนั้นกลับยังไม่มีรายละเอียดงานวิจัยออกมาให้เห็น จนถึงตอนนี้มีรายงานผลข้างเคียงออกมาเพียงอย่างเดียวคืออาจทำให้มีไข้อ่อนๆ เท่านั้น

          ถึงพยายามไม่โยงการเมือง แต่ “Sputnik V” ได้ช่วยสร้างโอกาสทางการเมืองให้กับเครมลินได้เป็นอย่างดี ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ทางการรัสเซียก็ประกาศออกมาว่ามีประเทศมากกว่า 20 ประเทศทั้งจากละตินอเมริกา ตะวันออกกลางและเอเชียต่อคิวกันเข้ามาติดต่อแสดงความสนใจวัคซีนชนิดแรกของโลกแล้ว
 

          ภายในปลายปี 2564 รัสเซียตั้งใจจะผลิตวัคซีนให้ได้ 1 พันล้านโดสเข้าตลาดโลกหรือคิดเป็นหลายล้านโดสต่อเดือนทั้งจากแหล่งผลิตในประเทศและในประเทศพันธมิตร อีกทั้งกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย (RDIF) องค์กรผู้อยู่เบื้องหลังเงินทุนวิจัย “Sputnik V” ยังมีแผนการนำวัคซีนไปแจกจ่ายช่วยเหลือประเทศที่ยากจนหรือในประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย นับเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศได้โดยใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส
 

          อีกเรื่องที่รัสเซียพยายามแก้ข่าวคือประเด็นเรื่อง “ความสมัครใจ” เนื่องจากมีสื่อตะวันตกหลายแห่งรายงานเชิงว่ารัสเซียจะบีบบังคับให้คนทั้งประเทศต้องรับวีคซีนป้องกันโควิด-19 เรื่องนี้รัสเซียต้องออกมาย้ำว่าใครจะฉีดหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ พยายามลบภาพความเผด็จการที่สื่อตะวันตกสร้างให้
 

          แม้จะยืนกรานว่าไม่เอี่ยวการเมือง แต่การตั้งชื่อวัคซีนตัวนี้ว่า “Sputnik V” ตามชื่อดาวเทียมที่สหภาพโซเวียตสามารถส่งเข้าสู่วงโคจรโลกได้เป็นชาติแรกก่อนประเทศคู่แข่งตลอดกาลอย่างสหรัฐอเมริกา กลับมีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่อย่างเห็นได้ชัด การรีบป่าวประกาศความสำเร็จของงานวิจัยทั้งที่ยังไม่เรียบร้อยดีนักก็ทำให้รัสเซียได้ซีน “ฮีโร่” ของสถาการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไปไม่น้อยเลยทีเดียว