ไว้อาลัยขบวนการอยุติธรรม คดีอัปยศ “ตร.-อัยการ”

31 ก.ค. 2563 | 12:00 น.

ไว้อาลัยขบวนการอยุติธรรม คดีอัปยศ “ตร.-อัยการ” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3597 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 2-5 ส.ค.63 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ไว้อาลัยขบวนการอยุติธรรม

คดีอัปยศ“ตร.-อัยการ”
 

     คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง “บอส” นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทของเจ้าสัวกระทิงแดง ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงชนดาบตำรวจคนหนึ่งตายคาที่และหนีคดีไปต่างประเทศร่วม 8 ปี กำลังกลายเป็นเรื่องอัปยศ กำสรวลของผู้คนในประเทศไทยในเรื่องกระบวนการยุติธรรม
 

     คดีนี้กลายเป็นชนวนสำคัญในการนำพาสังคมไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นของพนักงานสอบสวน ทั้งตำรวจ และสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เป็นต้นธารแห่งความยุติธรรม คดีนี้ มีที่มาว่า........
 

     พนักงานสอบสวนคือตำรวจ เสนอสั่งฟ้อง นายวรยุทธ 3 ข้อหา 1.ขับประมาทเป็นเหตุให้คนตาย 2.ขับรถก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่หยุดช่วยเหลือ 3. ขับรถเร็วเกินอัตราที่ กม.กำหนด ส่วนข้อหาที่ 4.ตำรวจไม่สั่งฟ้องข้อหาเมาสุราขณะขับรถ
 

     ปรากฏว่า อัยการกรุงเทพใต้ 1 เห็นด้วยกับ พนักงานสอบสวน ขณะที่อธิบดีอัยการกรุงเทพใต้ เห็นด้วยกับอัยการ และผบ.ตร.ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการคดีเมาสุราขับรถ
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขอเชิญผู้รักความยุติธรรมร่วมแสดงความคิดเห็นและไว้อาลัยกับ #ขบวนการอยุติธรรมในประเทศไทย 

ทำความรู้จัก ต้นตระกูล “บอส อยู่วิทยา” และอาณาจักร “กระทิงแดง” 6.6 แสนล้าน

ชูวิทย์ ชี้ "คดีบอส อยู่วิทยา" เรื่องมันจบไปแล้ว

 

     อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอคำส่งฟ้อง ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดหลายครั้ง และอัยการสูงสุดก็ให้ตำรวจสอบเพิ่มเติม ระหว่างรอสอบเพิ่มเติม คดีขับรถเร็วเกินกำหนดจะขาดอายุความ จนอัยการให้ตำรวจส่งตัวผู้ต้องหามาเพื่อฟ้อง ผู้ต้องหาไม่มา ทางอัยการเห็นว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ตำรวจขอศาลออกหมายจับ แต่ตำรวจก็ไม่ได้ตัวผู้ต้องหา ผลคือ “คดีขาดอายุความ”

 

     ระหว่างที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ผู้ต้องหาได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด และ กมธ.สนช. อัยการให้ตำรวจสอบเพิ่มอีกหลายครั้งจนกระทั่งวันที่ 12 มิถุนายน 2563 รักษาการ อัยการสูงสุด (เนตร นาคสุข) เห็นว่า คดีนี้มีปัญหาต้องพิจารณาเรื่องเดียวว่า ผู้ต้องหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นตายหรือไม่
 

     เพราะแต่เดิมนั้น ตำรวจผู้พิจารณาความเร็วรถยนต์ขณะเกิดเหตุว่าขับรถความเร็ว 177 กม./ชม. เป็นความเร็วที่เกินกว่าข้อกำหนด 80 กม./ชม. ถือเป็นการกระทำประมาทที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นตาย
 

     เมื่อมีการสอบสวนใหม่...พยานผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ความเร็วรถ 76.17 กม./ชม.ตำรวจผู้พิจารณาความเร็วรถคนเดิม อ้างว่า ใช้วิธีคำนวณใหม่แล้ว ความเร็วของรถแค่ 76  กม./ชม. เพราะมีพยานบุคคลใหม่ 2 คน โผล่มาบอกว่าขับรถตามหลัง ขณะเกิดเหตุ บอกว่าผู้ต้องหาขับรถความเร็วประมาณ 50-60 เท่านั้น รอง อสส.จึงสรุปว่า ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า ...ผู้ตาย (ตำรวจ) ขับจักรยานยนต์เปลี่ยนเลนเข้าไปในเลนรถผู้ต้องหาในระยะกระชั้นชิด ทำให้ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที จึงเป็นเหตุสุดวิสัย ...มิใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง การกระทำของผู้ต้องหา จึงไม่เป็นความผิด จึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
 

     ตอนนี้บุคคลที่มีชื่อเป็น 1 ในพยานคือ จารุชาติ มาดทอง คนไร้รากแห่งเชียงใหม่ ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันไปแล้ว
 

     สะเทือนปฐพีสิครับ....
 

     ผมไม่ขอวิจารณา แต่ขอใช้ “ลำนำเลือด” เขียนโดย เพิ่มบุญ เปลี่ยนภู่ (นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย) ในหนังสือ ข้างกองไฟ (สำนักพิมพ์พรศิวะ พิมพ์ครั้งแรก 2547) มาเสนอให้สังคมได้เห็นถึงความวิปริตทางกระบวนการยุติธรรม “กลอนดัด” ชุดนี้เป็นที่ศึกษาของบรรดาผู้คนที่เรียนนิติศาสตร์ ใช้เป็นวรรคทอง ประจำใจความว่า

     เอ็งกินเหล้า เมายา ไม่ว่าหรอก

     แต่อย่าออก นอกทางไป ให้เสียผล

     จงอย่ากิน สินบาท คาดสินบน

     เรามันชน ชั้นปัญญา ตุลาการ”

แต่บทที่สอดรับกับสถานการณ์คดีความสะท้านปฐพี เป็นบทที่ 7 และ 8 ความว่า...

     “กลียุค ทุกข์ท้น ทนกลืนกล้ำ  

     กลชอบธรรม นำเลศ เหตุสู่ผล

     ผลสู่เหตุ เลศนำ ทำชอบกล   

     กล้ำกลืนทน ท้นทุกข์ ยุคกลี

     ใต้ระบอบ ระเบียบวาง สร้างระบบ    

     ต้องเคารพ กติกา รู้หน้าที่

     แต่ตัวบท กฎหมาย มากมายมี    

     ตรงจุดนี้ บาปเคราะห์ เข้าเกาะกุม

     ทุกหนแห่ง แฝงเงา เหล่าจิ้งจอก

     คอยกลับกลอก กลบคำ ทำตีขลุม

     ฉกประโยชน์ ยื้อแย่ง เหมือนแร้งรุม   

     มารมั่วสุม สร้างปัญหา น่าหวั่นเกรง

     กลไก ความยุติธรรม ควรนำสุข   

     กลับสร้างทุกข์ ทับถม คอยข่มเหง

     ปล่อยให้ สุจริตชน พึ่งตนเอง      

     จนคว้างเคว้ง หวาดผวา ระอาภัย

     ถูกเอารัด เอาเปรียบ ถูกเหยียบย่ำ    

     ชะตากรรม วิปริต ผิดวิสัย

     แทบทุกทาง ทุกที่ มีเลศนัย         

     ความบรรลัย ล่วงล้ำ รุมย่ำยี

     ดำเป็นขาว ขาวเป็นดำ ทำกลบเกลื่อน   

     ล้วนบิดเบือน กลับกลาย ระบายสี

     สร้างหลักฐาน พยานเท็จ เบ็ดเสร็จมี    

     ผลคดี สั่งได้ ดังใจปอง

     อำนาจสั่ง เงินซื้อ หรือพวกขอ    

     เรื่องราวก็ เรียบร้อย คล้อยสนอง

     ความชั่วช้า ช่วงโชติ โลดลำพอง   

     ความถูกต้อง ตกต่ำ เห็นตำตา

     กระบวนการ ยุติธรรม หลักค้ำสิทธิ์    

     ทุจริต รายรุม สุมปัญหา

     กวาดฝุ่นไว้ ใต้พรม หมักหมมมา     

     ถึงเวลา ปฏิวัติ กำจัดพาล

     หลักประชา ธิปไตย ไทยยึดถือ   

     กฎหมายคือ แนวทาง วางรากฐาน

     แต่สภาพ บังคับ กลับหย่อนยาน  

     ละหลักการ กลายกร่อน อ้างผ่อนปรน

     เจตนารมณ์ ของกฎหมาย สลายลับ   

     ขึ้นอยู่กับ อำเภอใจ ไร้เหตุผล

     เมื่อมีความ บกพร่อง ของบุคคล    

     ยิ่งสับสน สืบเนื่อง เกิดเรื่องลาม

     การตรวจสอบ ทุกส่วน ล้วนข้องขัด   

     สารพัด ยุ่งยาก เป็นขวากหนาม

     ทั้งผู้คน กลไก ไม่คล้อยตาม       

     มีแต่ความ เมินเฉย จนเคยชิน

     ต้องเรื่องราว ฉาวโฉ่ โกลาหล    

     ค่อยมีคน ใส่ใจ ใฝ่ถวิล

     ทุกข์ชาวบ้าน ธรรมดา ดังอาจิณ   

     แทบไม่ยิน ไม่ยล ไม่สนใจ

     แค่เช้าชาม เย็นชาม ตามประสา   

     กี่ปัญหา ที่ผ่าน การแก้ไข

     กี่แผนงาน เงียบนิ่ง ทอดทิ้งไป     

     บ้างก็ไฟ ไหม้ฟาง ก่อนจางควัน

     ในขณะ ประชาชน ยังทนทุกข์     

     ท่านกลับสุข เสมือนเทพ เสพสวรรค์

     เพิ่มเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง ผลแบ่งปัน    

     สมานฉันท์ สมาคม จนกลมเกลียว

     ท่านอยู่ดี กินดี มีอำนาจ

     ประชาราษฎร์ ยากไร้ ใครแลเหลียว

     มาตรฐาน ที่พึ่ง เป็นหนึ่งเดียว   

     ยังลดเลี้ยว ลักลั่น แบ่งชั้นชน

     หลากตัวบท กฎหมาย หลายข้อห้าม  

     แค่ข้อความ ในกระดาษ ปราศจากผล

     ใช้บังคับ อยู่บ้าง กับบางคน     

     ที่เผลอตน ไปอยู่ ขวางหูตา

     แม้การเลือก ปฏิบัติ ขัดกฎหมาย   

     แต่เส้นสาย สัมพันธ์ นั้นแน่นหนา

     ความเป็นธรรม ที่ใคร เคยได้มา    

     ต้องถือว่า โชคหนุน บุญอนันต์

     ตราบที่กฎ ไม่ถูกเน้น ว่าเป็นกฎ   

     ยังจับจด ตามใจ ไม่กวดขัน

     เหมือนไม้หลัก ปักเลน ล้อเล่นกัน    

     ไม่มีวัน ยุติธรรม ถูกคำนึง

     ตราบผู้ถือ กฎหมาย เล่นขายของ  

     ความมัวหมอง เสื่อมทราม ลามทั่วถึง

     ขณะที่ คนดีทำ เพียงรำพึง     

     ย่อมอื้ออึง เสียงสะอื้น คนขื่นใจ”