ไล่บี้‘ซีพี’ซื้อโลตัส SMEs-โชห่วยจ่อตาย

01 ส.ค. 2563 | 08:00 น.

หวั่น “ซีพี” ซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสเข้าข่ายผูกขาดมีอำนาจเหนือตลาด ส่งผลกระทบหนัก SMEs ร้านโชห่วย ผู้บริโภค กรรมาธิการการพาณิชย์ฯ ชงตั้งคณะทำงานลงพื้นที่จริง เก็บข้อมูล เกาะติดตลาดค้าปลีก ขณะที่ “กขค.” ตีกลับ ให้ซีพียื่นเอกสารรอบ 2 ก่อนเริ่มต้นพิจารณา

กรณี “ซีพี” เข้าซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” จะเข้าข่ายการผูกขาดธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทยหรือไม่ เพราะอาณาจักรของซีพี ที่มี “เซเว่น อีเลฟเว่น” ครองเบอร์ 1 ในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ

“แม็คโคร” ครองเบอร์ 1 ในธุรกิจค้าส่ง หากครอบครอง “เทสโก้ โลตัส” ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต เท่ากับว่า “ซีพี” ยึดครองอุตสาหกรรมค้าปลีกใน 3 เซ็กเมนต์แบบเบ็ดเสร็จ อาจส่งผลกระทบทำให้มีอำนาจเหนือตลาด เข้าครอบงำผู้ประกอบการรายย่อย และอาจส่งผลต่อผู้บริโภคในระยะยาวได้ ล่าสุดคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร มีมติให้จัดตั้งคณะทำงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเคร่งครัด หลังจากที่มีผู้ยื่นหนังสือร้องเรียน

โดยนายอันวาร์ สาและ ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ลงพื้นที่จริง ศึกษาผลกระทบ และเก็บข้อมูลถึงผลกระทบจากการควบรวมกิจการของซีพีและเทสโก้ โลตัสในสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลารวบรวมและนำเสนอภายใน 1 สัปดาห์ ขณะเดียวกันหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเรียกดูข้อมูลจากคณะอนุกรรมาธิการฯที่ทำงานไปแล้วในหลายวาระ

“หลังมีผู้ร้องเรียนเข้ามาเมื่อเดือนมิถุนายน ว่าการควบรวมธุรกิจครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี ร้านค้าปลีกรายย่อยหรือโชห่วย ตลอดจนผู้บริโภค คณะกรรมาธิการฯจึงได้เรียก
ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนองค์กรต่างๆ เข้ามาประชุมหารือแล้ว 2 นัด ซึ่งได้รับข้อมูลพอสมควร แต่ผู้ประกอบการบางรายก็ยังไม่กล้าให้ข้อมูลมากนัก เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบทางธุรกิจที่ประชุมจึงมีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่ศึกษาข้อมูล รวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนสภาพตลาดเป็นระยะๆ”

 

ชี้มีอำนาจเหนือตลาด

ด้านนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ยื่นหนังสือร้องเรียน กรณี
ซีพีเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสในครั้งนี้ กล่าวว่า การควบรวมกิจการของผู้ประกอบการรายใหญ่ ย่อมทำให้มีอำนาจเหนือตลาด และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอี ร้านค้าปลีกรายย่อยหรือโชห่วย ผู้ผลิต และที่สุดผู้บริโภคก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

“วันนี้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ต้องมีความชัดเจน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องให้ความกระจ่างกับทุกหน่วยงาน ว่ากรณีนี้เข้าข่ายการผูกขาด การมีอำนาจเหนือตลาด จะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั้งระบบ หากกขค. สามารถชี้ชัดได้ ก็จะเป็นต้นแบบสร้างมาตรฐาน และความโปร่งใส ในธุรกิจอื่นๆที่จะตามมาได้ในอนาคต”

ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้นำเสนอถึงความกังวลต่อกรณีการควบรวมกิจการครั้งนี้ ใน 4 มิติ ได้แก่ 1. ผู้บริโภค จะซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น แต่คุณภาพลดลง 2. ภาคเกษตรกรจะเข้าถึงตลาดยากกว่าเดิมจากผู้มีอำนาจเหนือตลาด 3. เอสเอ็มอี จะเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่ายยากขึ้น และ 4. การแข่งขันทาง การค้าจะถูกผูกขาดจากผู้มีอำนาจเหนือตลาด

 

ขอพื้นที่ยืน SMEs

นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีที่จะนำสินค้าต้องไปวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกรายใหญ่ ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรกเข้า (ต่อรายการ),
ค่าจีพี, ค่าเชลฟ์, ค่าสื่อ ฯลฯ รวมถึงเครติดการจ่ายเงินที่ใช้ระยะเวลานาน ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระรอบด้าน หากภาครัฐต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจริง ก็ต้องมีแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้เดินหน้าได้

ขณะที่การควบรวมกิจการของผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้มีสาขาครอบคลุมทั้งร้านค้าปลีก ค้าส่ง ซึ่งที่ผ่านมาการขยับตัวของผู้ประกอบการรายใหญ่ หลายครั้งก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เช่น การผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ออกมาขายแข่งกับสินค้าที่ขายดี หรือการเข้ามากำกับต้นทุนสินค้า พร้อมกำหนดราคาขายให้กับผู้ผลิต ขณะที่เปอร์เซ็นต์การแบ่งรายได้ยังเท่าเดิม เป็นต้น

“วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญกับปัญหารอบด้าน อยากให้เอสเอ็มอีมีที่ยืน มีแต้มต่อบ้าง”

 

เรียกยื่นเอกสารรอบ 2

อย่างไรก็ดี การควบรวมกิจการครั้งนี้จะสำเร็จก็ต่อเมื่อ ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ว่าเข้าข่ายเป็นการรวมธุรกิจ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดไว้ 2 แนวทางคือ 1. เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้วอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด 2. เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้ว อาจก่อให้เกิดการแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสําคัญ

ทั้งนี้ล่าสุด ผู้บริหารซีพี ได้ยื่นเอกสารนำเสนอการซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสต่อกขค. เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ข้อมูลไม่ครบถ้วน กขค. จึงให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมอีกครั้ง ซึ่งกขค. จะเริ่มพิจารณาต่อเมื่อได้รับเอกสารครบถ้วน และต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

หน้า 1  ฉบับที่ 3,596 วันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563