“จุรินทร์”ลุยปั้นอีก 600 ราย บูมอี-คอมเมิร์ซเมืองภูเก็ต

26 ก.ค. 2563 | 07:55 น.

“จุรินทร์” จับมือจังหวัดภูเก็ต เปิดอบรมค้าอี-คอมเมิร์ซ ปั้น 600 รายค้าออนไลน์ สู้ 3 วิกฤติทั้ง “เศรษฐกิจโลกชะลอตัว-สงครามการค้า-โควิด”

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 26 กรกฎาคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานเปิดการอบรม E-Commerce “เศรษฐกิจทันสมัย การค้าก้าวไกลไปกับดิจิทัล”ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จังหวัดภูเก็ต

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดอบรมลักษณะนี้มาหลายจังหวัดแล้ว มีผู้สนใจมากและส่วนใหญ่ตั้งเป้าจะอบรมไม่เกิน 300 คนต่อรุ่นเพื่อหวังผลทางการปฏิบัติและสถานการณ์เศรษฐกิจ แต่เนื่องจากขณะนี้โลกเปลี่ยนไปมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่กระเทือนไปทั่วโลก ซึ่งเราเผชิญมาเป็นปีและยังไม่มีทีท่าว่าจะหายไป และยังมีสถานการณ์โควิด ซึ่งเป็นสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น และกระทบกับพวกเราทุกคน โดยกระทบหมดทั้งโลกไม่ใช่เฉพาะจีน อเมริกา ยุโรป เอเชีย อาเซียน หรือประเทศไทยก็ไม่เว้น แม้แต่ภูเก็ต พังงา ทุกท่านทราบดี เพราะเผชิญกับสถานการณ์โดยตรง

 

"เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยน จะอยากหรือไม่อยาก เราก็กำลังโดนเปลี่ยน สิ่งนี้คือสิ่งที่เราต้องเตรียมการสำหรับการรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอลที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการดำรงชีวิตหรือในเรื่องของการประกอบธุรกิจการค้า ทั้งการค้าในประเทศหรือการค้าระหว่างประเทศ เราก็ต้องเจอกับมันและต้องพร้อมที่จะปรับตัว การค้าเมื่อก่อนเป็นแบบออฟไลน์ คือเราผลิตอะไรได้เราก็แบกไปขายที่ตลาดนัด ตลาดสด ห้างโมเดิร์นเทรด ศูนย์การค้า เป็นต้น แต่พอโลกเปลี่ยน ทำแบบเดิมไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าหยุดทำการค้าแบบออฟไลน์ ซึ่งยังมีความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศหรือตลาดระหว่างประเทศแต่สิ่งที่ต้องเติมเข้ามาคืออี-คอมเมิร์ซ ที่เป็นการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือการค้าออนไลน์”

 

“จุรินทร์”ลุยปั้นอีก 600 ราย บูมอี-คอมเมิร์ซเมืองภูเก็ต

 

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการค้าของภาคธุรกิจ ภาคผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ยิ่งจังหวัดภูเก็ตยิ่งเห็นชัด agoda หรือ bnb รวมทั้งเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อการจองโรงแรมด้วยระบบออนไลน์ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ นี่คืออี-คอมเมิร์ซในภาคบริการ แต่ภาคผลิตภัณฑ์ ไมโครเอสเอ็มอี โอท็อป การค้าออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด ที่คนออกจากบ้านไม่ได้ เดินมาซื้อของไม่ได้ หรือเราไปเดินขายเค้าก็ไม่กล้าซื้อ ระบบการค้าออนไลน์จึงมีความจำเป็น ถ้าคนเข้าใจก็ง่าย แต่ถ้าไม่เข้าใจก็จะยากมาก

 

กระทรวงพาณิชย์จึงต้องสร้างองค์ความรู้และให้ความรู้กับทุกคนที่สนใจและต้องการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่(ยุค New Normal) การอบรมเรื่องการค้าออนไลน์จึงเกิดขึ้นและมีคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จไปก่อนหน้าแล้วมากมาย

 

“ไม่กี่วันมานี้ได้ไปเปิดอบรมที่จังหวัดสงขลา เอาบังฮาซันไป ได้ผลดีมาก บังฮาซันขายปลาแห้ง กุ้งแห้ง ออนไลน์และเป็นพรีเซ็นเตอร์เอง วันนั้นมาทดลองเปิดไลฟ์สดขายออนไลน์สินค้าตัวเองประมาณ 10 - 20 นาทีขายได้ 200,000 กว่าบาท " นายจุรินทร์ กล่าว และว่า

 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการค้าออนไลน์มีบทบาทสำคัญมากขึ้นทุกวัน แม้แต่การค้าระหว่างประเทศ ตนก็ได้ปรับบทบาททูตพาณิชย์ให้เป็นเซลล์แมนประเทศ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเซลล์แมนประเทศ พาณิชย์จังหวัดต้องเป็นเซลล์แมนจังหวัด ระบบออนไลน์มีความจำเป็น เมื่อก่อนเวลาเราจัดแสดงสินค้าขายของต่างประเทศเราต้องไปเชิญบริษัทห้างร้านมาออกบูธและเชิญผู้นำเข้าจากต่างประเทศนั่งเครื่องบินมาแล้วมาเดินดูและเซ็นสัญญาสั่งซื้อ แต่เดี๋ยวนี้ระบบนี้ยังจำเป็นอยู่แต่ทำไม่ได้แล้ว เพราะผู้นำเข้าเดินทางผ่านประเทศต้องถูกกักตัว 14 วัน ไม่มีใครมาและถ้าเราไปจัดก็ไม่รู้ว่าใครจะซื้อ ยกเว้นต้องปรับเป็นระบบออนไลน์

 

เมื่อวันที่ 18 - 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาลำไยมีปัญหามาก เพราะจีนข้ามแดนมาซื้อไม่ได้ เนื่องจากติดเรื่องการกักตัว 14 วัน เราเลยต้องปรับรูปแบบเป็นการค้าออนไลน์ ตนไปเป็นประธานเปิด 2 วัน ตั้งเป้าว่าจะขายลำไยให้เกษตรกรให้ได้ 11,000 ตัน โดยเชิญลูกค้าจากทั้งหมด 8 ประเทศผ่านจอให้นั่งเทรดกันที่ประเทศเขา แล้วพวกเรา 40-50 บริษัทไปนั่งที่หน้าจอ ตั้งเป้ายอดขาย 11,000 ตัน มูลค่า 550 ล้านบาท ปรากฏว่าพอสองวันจบจากเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะขายลำไย 11,000 ตัน กลายเป็น 32,000 ตัน จาก 550 ล้านบาทขายได้ 2,100 ล้านบาท

 

“จุรินทร์”ลุยปั้นอีก 600 ราย บูมอี-คอมเมิร์ซเมืองภูเก็ต

 

ก่อนหน้ายุคโควิด ตนได้ไปเซ็นสัญญากับ T Mall ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ สังกัดอาลีบาบาที่เซี่ยงไฮ้ เซ็นเสร็จเราสามารถโพสต์สินค้าของเราขึ้นไปไว้บนหน้าจอของ T Mall ได้ มีห้องไทยโดยเฉพาะ เราเริ่มเทรดผลไม้ พอเข้ายุคโควิด เราขนผลไม้ไปขายได้ แต่ติดปัญหาอุปสรรคเยอะสุดท้ายต้องปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ ทดลองทำหน้าที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ขายผลไม้ให้ประเทศไทยทำหน้าที่หัวหน้าเซลล์มาประเทศปรากฎว่า 15-20 นาทีที่ตนทำโปรโมชั่นขายผลไม้ไทยร่วมกับพิธีกรจากประเทศจีนภายใน 20 นาทีมีคนจีนเข้ามาดูถึง 16 ล้านคน และทำยอดขายได้มหาศาล การค้าออนไลน์จึงเข้ามามีอิทธิพลกับเรามากขึ้นทุกวัน ดังนั้นการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องอี-คอมเมิร์ซและการค้าออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

 

“จุรินทร์”ลุยปั้นอีก 600 ราย บูมอี-คอมเมิร์ซเมืองภูเก็ต

 

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่ากรมได้จัดอบรมอี-คอมเมิร์ซมาแล้ว 4 ครั้ง และมีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้นรวม 6,000 ราย ในจังหวัดสุโขทัย อุดรธานี พัทลุง สงขลา ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมในวันนี้มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นมากกว่า 600 คน มาจากกลุ่มนักศึกษาที่มีความสนใจต้องการประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน โอท็อปและสมาร์ทฟาร์มเมอร์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับเกียรติจากวิทยากรซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเกินกว่าอายุหรือเรียกว่านักธุรกิจอายุน้อยร้อยล้านจากลาซาด้าและแม่ค้าออนไลน์มะม่วงหิมพานต์ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น