ต่อยอด เราไม่ทิ้งกัน-เยียวยาเกษตรกร ฉีดเงินกู้ 4 แสนล้าน จ้างงานทั่วประเทศ

23 ก.ค. 2563 | 10:08 น.

รัฐบาล เร่งอัดฉีดเงินกู้ 4 แสนล้านบาท รอบแรกวงเงินกว่า 9 หมื่นล้าน ต่อยอด เราไม่ทิ้งกัน - เยียวยาเกษตรกร - กลุ่มเปราะบาง - ลูกจ้างในระบบประกันสังคม จ้างงานทั่วประเทศกว่า 4 แสนราย พร้อมยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ กระตุ้นท่องเที่ยว

หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการลดผลกระทบและเยียวยาของประชาชนและผู้ประกอบการ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านโครงการต่างๆ เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระผ่านโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” มาตรการเยียวยาเกษตรกร มาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบาง รวมถึงมาตรการเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคม

 

รายงานข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า หลังจากนี้รัฐบาลตั้งเป้าอัดฉีดเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ในรอบที่ 1 จำนวน 92,203.6 ล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นการจ้างงาน การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เกษตรสมัยใหม่ เศรษฐกิจชีวภาพ ท่องเที่ยวคุณภาพ และ รวมทั้งกระตุ้นอุปสงค์ และการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคบริการ และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

ขณะนี้มีแผนงานงานที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองการใช้เงินกู้รอบที่ 1 จำนวน 92,203.6 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 3 แผนงานหลัก คือ

แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก จำนวนเงิน 49,463.03 ล้านบาทครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งของธุรกิจภาคเกษตรและเกษตรกร รวมถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิต ในระดับพื้นที่ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงช่องทางการตลาด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน เกษตรทฤษฎีใหม่ ท่องเที่ยวชุมชน กองทุนหมู่บ้าน โลจิสติกส์ และดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจใหม่ 4 แห่ง จำนวนเงิน 20,340.57 ล้านบาท ซึ่งให้ความสำคัญกับแผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจกรรมที่ครอบคลุมต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจ ที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ

 

แผนงานกระตุ้นการอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ โครงการเราไปเที่ยวกัน และโครงการกำลังใจ รวมมูลค่า 22,400 ล้านบาทโดยใช้หลักร่วมจ่าย (co-pay) 60:40 โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวบางส่วนให้ประชาชน ได้แก่ ค่าโรงแรมที่พัก ค่าอาหารและค่าแหล่งท่องเที่ยว ค่าตั๋วเครื่องบิน และอุดหนุนค่าแพ็คเกจทัวร์ แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นต้น

สศช.ตั้งเป้าหมายว่า การใช้เงินกู้ฯ 400,000 ล้านบาทนี้ จะช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศไทยหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกันก็จะช่วยขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับมาฟื้นตัวและเดินหน้าได้ต่อไป โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

  • ช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 410,415 ราย
  • เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเอง กว่า 95,000 ราย จากการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและน้ำ
  • เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 5,450 แปลง จำนวน 262,500 ราย และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี
  • เกิดพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2.4 แสนไร่
  • เกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 5 ล้านไร่
  • พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นกว่า 1.7 แสนไร่
  • พื้นที่กักเก็บน้ำ 7,900 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • พัฒนาต้นแบบสำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระหว่างและหลังวิกฤติโควิด -19 กว่า 6พื้นที่
  • กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ จำนวนกว่า 2.0 ล้านคน/ครั้ง และคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ทางตรงให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท