พระราชกรณียกิจ “ด้านการเกษตร” ของ "ในหลวง ร.10"

19 ก.ค. 2563 | 21:05 น.

เฉลิมพระเกียรติ "ในหลวง ร.10" พระราชกรณียกิจด้านการเกษตร

เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 นี้ ร่วมเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว "ในหลวง รัฐกาลที่ 10"

 

“ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวม พระราชกรณียกิจ ของพระองค์ท่านที่มีมากมายมานำเสนอ ดังนี้ 

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจทางด้านการเกษตร นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังภูมิภาคต่างๆ ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ ทุกข์สุขของราษฎรเพื่อเรียนรู้แนวทางการพระราชทานความช่วยเหลือ ทั้งการพัฒนาอาชีพ พัฒนาแหล่งน้ำ และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร

 

พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมด้านการเกษตรกรรมอันเป็นอาชีพหลักของปวงชนชาวไทยตลอดมา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นประจำ

 

ในวันที่ 23 มีนาคม 2529 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำปุ๋ยหมักเป็นปฐมฤกษ์จากผักตบชวาและพืชอื่นๆ ณ บ้านแหลมสะแก ตำบลเดิมบาง อำเภอบางนางบวช นอกจากนี้ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2529 ได้ทรงปฏิบัติการสาธิตการทำนาด้วยพระองค์เอง เมื่อพระราชทานอุปกรณ์ การทำนา พันธ์ข้าวปลูก และปุ๋ยหมักให้ข้าราชการ ผู้ใหญ่ไปดำเนินการสาธิตแล้ว ได้ทรงถอดฉลองพระบาท ถลกพระสนับเพลา ทรงพระดำเนินลุยโคลน หว่านพันธ์ข้าวปลูกและปุ๋ยหมักในแปลงนาสาธิต โดยมิได้มีกำหนดการไว้ก่อน ยังความชื่นชมโสมนัสปลาบปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรแก่บรรดาข้า ราชการและประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทในพิธีการวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง

 

พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เพื่อช่วยเหลือราษฎรในท้องถิ่นให้ได้มีเทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่ และนำมาปรับปรุงงานเกษตรกรรมของตนให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิตโดยใช้ปุ๋ยหมัก ณ ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

พระราชกรณียกิจ "ทางการแพทย์-สาธารณสุข" ของ ในหลวง ร.10

"สำนักนายกฯ" แจ้งทุกหน่วยงานจัดกิจกรรม เฉลิมพระเกียรติ "ในหลวง" 28 กรกฎาคม 2563 

เฉลิมพระเกียรติ “ในหลวง ร.10” วธ.เตรียมจัดนิทรรศการ "พระราชกรณียกิจ 11 ด้าน"

“ก.อุตฯ” ผนึก “กฟผ.”-“กทม.” ฟื้นฟูคลองแสนแสบและคลองสาขาเทิดพระเกียรติ ร.10

มท.เตรียมจัดกิจกรรม “จิตอาสาวิถีใหม่” เฉลิมพระเกียรติ “ในหลวง ร.10”

 

ทรงยึดแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการดูแลช่วยเหลือราษฎรในเรื่องปัญหาดินและน้ำในลักษณะต่างๆ มีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแหล่งน้ำในหลายพื้นที่  เช่น ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาด้านการเกษตรกรรมเกษตรวิชญา บ้านกองแหะ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาด้านเกษตรกรรมเกษตรกรวิชญา บ้านกองแหะ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ในปี 2549 ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแห หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นที่สูงให้แก่เกษตรกรอย่างครบวงจรประจำภาคเหนือ ภายใต้ชื่อโครงการ “เกษตรวิชญา” อันเป็นการสานต่อพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการในลักษณะเป็นคลินิกเกษตรเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน เป็นศูนย์ฝึกอบรม และวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้เกิดเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติและมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแบบอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

 

1.เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในโอกาสฉลอง สิริราชสมบัติ ครบ 60 ปีในปี พ.ศ. 2549

2. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และในวาระเฉลิม ขวัญพระโอรส พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

3.เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร คลินิกเกษตร และศูนย์ฝึกอบรมการทำการเกษตรบนพื้นที่สูงอย่างสมบูรณ์แบบ ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้เป็นเขตธนาคารอาหารชุมชน อนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธารเพื่อให้เกิดการผลิตทดแทนหมุนเวียน โดยชุมชนมีส่วนร่วมและเกื้อกูลกันในระบบนิเวศของป่าอย่างยั่งยืน

4.เพื่อจัดตั้งศูนย์อภิบาลเด็กสายใยจากแม่สู่ลูก เป็นต้นแบบในการจัดสวัสดิการให้แก่เกษตรกร และเจ้าที่หน้าโครงการ

 

ผลจากการดำเนินการเพาะชำกล้าไม้โตเร็วจำนวน 50,000 กล้า แจกจ่ายให้ราษฎรนำไปปลูกขยายผลใช้ประโยชน์ในชุมชนและครัวเรือนปลูกป่าไม้ใช้สอย ไม้โตเร็ว จำนวน 120 ไร่ เพื่อให้ราษฎร มีพื้นที่ป่าไว้ใช้ประโยชน์เป็นถ่านฟืนหุงต้มอาหาร และดำเนินกิจกรรมส่งเสริมราษฎรผลิตและ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล จำนวน 2 หมู่บ้านอีกทั้งจัดฝึกอบรมหลักสูตร “การผลิตและใช้เชื้อเพลิง อย่างมีประสิทธิภาพ” แก่ราษฎรจำนวน 30 คน ประโยชน์ที่ได้ทำให้ราษฎรจำนวน 2 หมู่บ้าน ได้เรียนรู้การผลิตและนำเชื้อเพลิงจากวัสดุชีวมวลมาใช้สอยในชีวิตประจำวันและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น มีวัสดุเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ไม้ฟืน ลดปริมาณการใช้ไม้ฟืนจากป่าธรรมชาติราษฎรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ปลูกไม้ฟืน จำนวน 120 ไร่ ส่งผลให้ราษฎรเกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

 

ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2543 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านคำน้ำสร้าง ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ พิจารณาช่วยเหลือเรื่องปากท้องของราษฎร ในพื้นที่ซึ่งเป็นหมู่บ้านยากจน

 

วันเดียวกันนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพบริเวณหนองอึ่ง ในพื้นที่บ้านท่าเยี่ยม ตำบลค้อเหนือ และมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือราษฎร ดังนี้

1.ให้ปรับปรุงขุดลอกหนองอึ่ง เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรและแหล่งเพาะพันธุ์ปลา

2.ให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่และสภาพดินโดยรอบหนองอึ่ง ปลูกหญ้าแฝก และต้นไม้เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน

3.ให้ฟื้นฟูสภาพป่าโดยรวม เพื่อให้คนกับป่าอยู่อย่างเกื้อกูลกัน

 

เมื่อทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษาในปี พ.ศ.2545 ได้ทรงรับโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ไว้ในพระราชานุเคราะห์และทรงพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการด้วยทรงประสงค์จะให้บริการแก่เกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตทางการเกษตรได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริมและ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ในการพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกรให้ สามารถทำการผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาร่วมกัน มีเป้าหมายเพื่อให้บริการทางการเกษตรแก่เกษตรกรตามความต้องการ และความเหมาะสมของพื้นที่ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ตลอดจนเสริมสร้างความรู้และฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมแก่เกษตรกร

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เสด็จมาทรงงานในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2549 จากบ้านสันติ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา และบ้านสันติ 2 หมู่ที่ 6 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา จำนวน 74 ครอบครัว รวม 134 คน ซึ่งได้อพยพไปอยู่ที่วัดนิโรธสังฆาราม อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือ

 

ในวันที่ 19 มีนาคม 2550 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้โปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพภาคที่ 4, ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมคณะเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อร่วมกันพิจารณาหาทางช่วยเหลือราษฎรกลุ่มดังกล่าว ในวันที่ 27 สิงหาคม 2550 ได้โปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพภาคที่ 4 , ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาพร้อมคณะเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อถวายรายงานผลการช่วยเหลือราษฎรดังกล่าว โดยได้พระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการเพื่อชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็นบ้านสันติ 2 ตามพระราชดำริ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร”

 

ที่มา คณะกรรมการกฤษฎีกา, มูลนิธิยุวทูตความดี