“เงินกีบ”ลาว ผันผวนมากสุดรอบ 4 ปี

04 ก.ค. 2563 | 05:26 น.

อัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบของลาว ผันผวนมากสุดรอบ 4 ปี นักวิชาการชี้ปัจจัยจากการเก็งกำไร-ขาดดุลการค้า โควิดทุบซ้ำทำเศรษฐกิจชะลอตัว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) รายงานอ้างอิงข้อมูลจากสื่อของลาวว่า เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2563 อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินกีบกับสกุลเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐฯมีความผันผวนมากขึ้นและอ่อนค่า ซึ่งไม่เป็นไปตามการประเมินของนักวิชาการที่คาดการณ์ว่าถ้าหากมีการปิดประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทําให้เงินกีบกลับมาแข็งค่าขึ้น

 

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนยังไม่เป็นไปตามกลไกตลาดและยังพึ่งพาการนําเข้ามากกว่าจึงทําให้เกิดขาดดุลการค้า สภาพอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินกีบกับเงินบาท และเงินกีบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2563 มีความผันผวนมาก โดย ณ วันที่ 2 มกราคม 2563 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 301.99 กีบต่อ 1 บาท และ 8,883 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นเงินกีบเริมแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยโดยในวันที่ 20 มกราคม อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 299.9 กีบต่อ 1 บาท จากนั้นก็คงตัวในระดับต่ำกว่า 300 กีบต่อ 1 บาทเป็นส่วนใหญ่ วันที่ 12 พฤษภาคม เงินกีบเริมอ่อนค่าอีกครั้งอยู่ที่ 300 กีบต่อ 1 บาท โดยอิงตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารการค้าต่างประเทศลาวมหาชนอยู่ที่ 300.02 กีบต่อ 1 บาท และยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง

“เงินกีบ”ลาว ผันผวนมากสุดรอบ 4 ปี

 

วันที่ 2 มิถุนายน อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 304.66 กีบต่อ 1 บาท และ 8,979 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และยังคงอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน อยู่ที่ 312.73 กีบต่อ 1 บาท และ 9,026 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าเงินกีบจะยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

 

ดร.พูเพ็ด เกียวพิลาวง รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์-บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ทําให้เงินกีบอ่อนค่าดังในปัจจุบันมีปัจจัยหลักเนื่องจากในประเทศมีการใช้เงินหลายสกุลส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่า อีกทั้งยังมีการเก็งกําไรโดยที่ไม่ใช่ธนาคารธุรกิจ แต่เป็นฝ่ายพ่อค้า-แม่ค้ารายย่อยหรือร้านแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีความสามารถซื้อเงินตราจํานวนมากและขายออกได้มาก จึงทําให้เกิดความผันผวนกับอัตราแลกเปลี่ยนนอกระบบ แม้ว่ารัฐบาลจะทําการควบคุมแล้ว แต่สามารถควบคุมได้เพียงภายในธนาคารธุรกิจเท่านั้น

 

สําหรับการแลกเปลี่ยนนอกระบบเป็นสิ่งที่ควบคุมยาก ซึ่งกลไกที่จะช่วยปรับอัตราแลกเปลี่ยนได้ต้องให้เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจตลาด เพื่อสร้างความสามารถของการแข่งขันในสปป.ลาวในอนาคต

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ประจําธนาคารแห่งหนึ่งให้ความเห็นว่า ปกติเงินกีบมีความอ่อนค่าอยู่แล้ว ซึ่งการอ่อนค่ามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของเศรษฐกิจ และกลไกตลาด กรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีส่วนทําให้ค่าเงินลดลงเพราะเศรษฐกิจมีการชะลอตัว ขณะเดียวกันความต้องการเพิ่มมากขึ้นทําให้มีความต้องการการนําเข้ามากกว่าการส่งออกจึงเป็นที่มาของการขาดดุลการค้า เพราะการนําเข้าสินค้านั้นต้องจ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือการส่งเสริมการผลิตภายในให้มากขึ้น ลดการนําเข้าสินค้าที่ไม่จําเป็น

 

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางการค้าของ สปป.ลาว รายงานว่า 5 เดือนแรกปี 2563 สปป.ลาว ส่งออกสินค้าได้ประมาณ 1,616 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นําเข้า 2,086 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าประมาณ 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉพาะการค้าของ สปป.ลาวกับไทยช่วง 5 เดือนแรกปี 2 563 มีมูลค่า 1,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกประมาณ 439 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการนําเข้าประมาณ 1,171 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สปป.ลาว ขาดดุลการค้ากับไทย 732 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ