"รถไฟฟ้า" ต่อขยาย "สีเหลือง" BTS ปะทุ รฟม. จ่อหย่าศึกชดเชย BEM

04 ก.ค. 2563 | 01:40 น.

จับตา รฟม. หย่าศึก ส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ต้องควักค่าชดเชย รายได้-ผู้โดยสารหาย ให้ บีอีเอ็ม สายสีน้ำเงิน ทดแทน หากไฟเขียวบีทีเอสก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วง ลาดพร้าว-รัชดาฯถึงพหลโยธิน ของบีทีเอสกรุ๊ป แม้มีระยะทางสั้นๆเพียง 2.6 กิโลเมตร แต่ผลกระทบรุนแรงไม่เบา สำหรับ MRT สายสีน้ำเงิน ที่บริษัท  ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เดินรถ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงกรณีการต่อขยายสายสีเหลืองที่บีทีเอสเสนอมานั้น ขณะนี้ยังให้ข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างบีทีเอสและ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ว่าจะดำเนินการกันอย่างไร ทั้งนี้อยากให้การเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายจบเร็วที่สุด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่ายถึงประเด็นการเจรจาที่ รฟม.ให้กลับไปพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง

"รถไฟฟ้า" ต่อขยาย "สีเหลือง" BTS ปะทุ รฟม. จ่อหย่าศึกชดเชย BEM

“จากผลการศึกษาถึงการเจรจาส่วนต่อขยายสายสีเหลือง พบว่า BEM มีส่วนได้รับผลกระทบด้านรายได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเรา   ไม่สามารถตอบได้ว่า BEM ได้รับผลกระทบเท่าไร เนื่องจากเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย”

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ระบุว่า BEM ได้รับผลกระทบ กรณีส่วนต่อขยายสายสีเหลือง เพราะผู้โดยสาร ไม่ได้เชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินแต่จะ วิ่งไปเชื่อมกับ บีทีเอส สายสีเขียวโดยตรงที่พหลโยธิน อย่างไรก็ตาม หาก เป็นเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อรายได้และผู้โดยสาร ลดลง ทางออก เชื่อว่า รฟม. น่าจะชดเชย หากเกิดการแข่งขัน แย่งชิงผู้โดยสาร ไม่เป็นไปตามสัญญาที่ระบุไว้ เดิม

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮสดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เปิดเผยว่า ถึงกรณีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง บริเวณสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธินที่ยังไม่ได้ข้อสรุปนั้น เนื่องจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังติดการเจรจากับ EBM เรื่องการชดเชยให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT กรณีที่การต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่งผล   กระทบต่อรายได้และผู้โดยสารของ MRT สายสีน้ำเงิน ขณะนี้ทางบีทีเอส ยืนยันว่าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 2.6 กม. จากสถานีลาดพร้าว-รัชดาภิเษก เชื่อมต่อกับสถานีพหลโยธินของรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะเป็น ผู้ดำเนินการลงทุนเองเต็ม 100% ซึ่งมีค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนราว 3,000-4,000 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนสะดวกในการเดินทางมากขึ้น

“เราดำเนินการลงทุนเองทั้งหมด โดยที่รฟม.ไม่ต้องลงทุน เพราะเราต้องการให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางและสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันเราเข้าใจว่า BEM ไม่เห็นด้วย เพราะจะกระทบต่อรายได้ รวมถึงจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงของ MRT แต่เราอยากให้มองถึงข้อเสนอนี้ หากสามารถดำเนินการได้ รฟม.จะได้ส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นเมื่อถึงจุดที่กำหนดส่วนแบ่งแก่ รฟม. กรณีที่จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น”

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา รฟม.เคยให้บีทีเอสพิจารณาทบทวนถึงการต่อขยายสายสีเหลือง ที่จะต้องชดเชยให้แก่ BEM หากได้รับ ผลกระทบ ซึ่งบีทีเอสเคยให้คำตอบแล้วว่าไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เป็นคู่สัญญาของ BEM ซึ่งเป็นหน้าที่ของ รฟม.ที่จะพิจารณาในฐานะที่เป็นคู่สัญญา หากข้อเสนอนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ก็ไม่เป็นไร เพราะประโยชน์ในครั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้บริการ

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ผู้ถือหุ้นบริษัท EBM กล่าวว่า ส่วนต่อขยายสายสีเหลืองอาจทำให้ BEM ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้โดยสารลดลงในอนาคต นั้น ไม่อยากให้มองตรงนั้น แต่อยากให้มองว่าหากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ทางบริษัทต้องแบ่งรายได้แก่ รฟม.อยู่แล้ว ส่วน จะดำเนินการชดเชยแก่ BEM อย่างไร ขึ้นอยู่ รฟม.เป็น ผู้พิจารณา

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,588 วันที่ 2-4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

"รถไฟฟ้า" ต่อขยาย "สีเหลือง" BTS ปะทุ รฟม. จ่อหย่าศึกชดเชย BEM