เปิดไส้ใน "งบกลาง 64" โปะเยียวยา-จ่ายฉุกเฉิน 1.4 แสนล้าน

29 มิ.ย. 2563 | 02:00 น.

ส่องงบรายจ่ายปี 64 จัดสรรลงใน"งบกลาง"วงเงิน  6.15 แสนลบ. เพิ่มจากปีก่อนกว่า 9.6 หมื่นลบ. โดยเฉพาะรายการใหม่  จ่ายบรรเทาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด รวม งบสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น รวมสูงถึง 1.4 แสนลบ.

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. งบ64 หรือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2564 วงเงิน  3.3 ล้านล้านบาท โดยตั้งเป็นงบประมาณขาดดุล 623,000 ล้านบาท โดยประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ "งบกลาง" ที่เปรียบเปรยกันว่าไม่ต่างกับ "เช็คตีเปล่า"ให้รัฐบาล  เนื่องจากไม่จำเป็นต้องผ่านการกลั่นกรองจากสภาผู้แทนราษฎร และมักจะอยู่ในรายการ  "เงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น" โดยในปีนี้ยังเป็นปีที่สองในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จัดสรรงบลงใน "งบกลาง"มากเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องจากปีงบ 63 (เดิมกระทรวงศึกษาธิการ จะได้รับการจัดสรรงบมากเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่อง 14 ปี  )

งบปี 64 ถูกจัดสรรเป็น"งบกลาง" จำนวน 614,616.2 ล้านบาท คิดเป็น 18.6 ของงบประมาณ  3.3  ล้านล้านบาท เทียบกับปีงบปีก่อนที่ได้รับจัดสรร 518,770.9 ล้านบาท  ( คิดเป็น 16.2%  ของงบประมาณรวมในปี 63 ) เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมาจำนวน  95,845.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18.5%

ข่าวเกี่ยวข้อง


เปิดไส้ใน "งบกลาง 64" โปะเยียวยา-จ่ายฉุกเฉิน 1.4 แสนล้าน

 

งบกลาง มีอยู่ 12 รายการ (ตารางประกอบ  ) พบว่ามี 1 รายการที่เพิ่มขึ้นมาใหม่คือ "ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 " วงเงิน 40,325.6 ล้านบาท ( เป็นงบจากกระทรวงและหน่วยราชการ ที่ได้ตัดลดงบในส่วนที่เป็นรายจ่ายไม่มีข้อผูกพัน,งบสัมมนา,งบอบรม ฯลฯ) อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงบประมาณ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

นอกจากนั้นยังมีรายจ่าย "เงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น" ได้รับจัดสรร  99,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปีก่อน 3,000 ล้านบาท   เฉพาะ 2 รายการนี้ ได้รับจัดสรรงบรวม 139,325.6 ล้านบาท 

ส่วนงบกลางที่อยู่ในความดูแลของกรมบัญชีกลาง สังกัดกระทรวงการคลัง 7 รายการ วงเงินรวม 471,286.6 ล้านบาท พบมีการตั้งวงเงินงบเพิ่มทั้งหมด อาทิเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ตั้งวงเงิน 300,435.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปีก่อน 34,718.8 ล้านบาท หรือเพิ่ม 13.07% ,เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ  ตั้งวงเงิน 69,707.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปีก่อน 6,927 ล้านบาท หรือเพิ่ม 11.04% 

ค่าใช้จ่ายในการรักษาข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของรัฐ ตั้งวงเงินไว้ 74,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปีก่อน  2,800 ล้านบาท หรือเพิ่ม 3.93%  เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ ตั้งวงเงิน 15,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปีก่อน 5,035.4 ล้านบาท หรือเพิ่ม 48.12% และค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน  ตั้งวงเงิน 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปีกอน 3,000 ล้านบาท หรือเพิ่ม 100% เป็นต้น

อนึ่ง"งบกลาง"ที่มีการปรับวงเงินเพิ่มมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ รายจ่ายด้านเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ ปีงบ ฯ 2562 ตั้งวงเงิน 223,762 ล้านบาท เพิ่มเป็น 265,716.3 ล้านบาท และ 300,435.5 ล้านบาท ในปีงบ 63 และ 64 ตามลำดับ ,รายจ่ายเงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ ปีงบ 62 ตั้งไว้ที่ 54,845 ล้านบาท เพิ่มเป็น 62,780 ล้านบาท และ  69,707 ล้านบาท ในปีงบ 63 และ  64 ตามลำดับ ฯลฯ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงที่ผ่านมาได้ออกกฎหมาย 4 ฉบับ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  โดยเมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา  สภาฯได้ผ่านร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านบาท และ พ.ร.บ.ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. .... เพื่อโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ของหน่วยรับงบประมาณ เป็นบางรายการ ไปตั้งไว้เป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 88,452.5 ล้านบาท