สรรพากรเตรียมรับมือ ภาษีe-Service ลงนาม 130 ประเทศ

18 มิ.ย. 2563 | 09:24 น.

สรรพากร ลงนาม 130 ประเทศ แก้ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ รองรับกฎหมาย ภาษีe-Service

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2563 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือ e-Service ซึ่งจะมีผลให้ ผู้ให้บริการอีเซอริวิสจากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกค้าในประเทศไทยที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร

 

ล่าสุดนายเอกนิติ  นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า ไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงแบบพหุภาคี Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters หรือ MAC กับกว่า 130 ประเทศ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสทางภาษี สร้างความเป็นธรรมในการบริหารจัดเก็บภาษี และต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ ซึ่งกรมอยู่ระหว่างนำร่างความตกลง MAC ที่ได้ลงนามแล้วเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและให้มีผลใช้บังคับต่อไป 

สรรพากรเตรียมรับมือ ภาษีe-Service ลงนาม 130 ประเทศ

ทั้งนี้การแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้ความตกลง MAC จะส่งผลให้กรมสรรพากรมีข้อมูลในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความเสี่ยงทางภาษีของผู้ประกอบการข้ามชาติ สนับสนุนการใช้บังคับกฎหมายของกรมสรรพากรในการส่งเสริมความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี เช่น กฎหมาย ภาษีe-Service ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ และขยายฐานภาษีที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศได้

 “MAC นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้หน่วยจัดเก็บภาษีทั่วโลกบูรณาการความร่วมมือกันตามกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และกลุ่ม G20 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการโยกย้ายฐานภาษีของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ และกรอบความร่วมมือ Global Forum ที่กำหนดมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศทุกรูปแบบ  เพื่อให้หน่วยจัดเก็บภาษีได้ใช้ประโยชน์สูงสุด จากข้อมูลที่ผ่านช่องทางการแลกเปลี่ยนภายใต้ความตกลง MAC”

 

 ทั้งนี้ การเข้าร่วม MAC ของประเทศไทยเป็นการขยายเครือข่ายคู่สัญญาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษี จากเดิม 60 คู่สัญญาภายใต้ความตกลงแบบทวิภาคี เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Tax Agreement : DTA) เป็นกว่า 130ประเทศภายใต้ความตกลง  MAC แสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับนานาประเทศ”