อัด1.6ล้านล้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หวังประคองจีดีพีไม่ดิ่งเหว

13 มิ.ย. 2563 | 07:15 น.

รัฐบาลกำเงิน 1.59 ล้านล้านบาท ฟื้นเศรษฐกิจ หลังพิษโควิด ฉุดจีดีพีดิ่ง TDRI เชื่องบฟื้นฟู 4 แสนล้าน ประคองเศรษฐกิจระยะสั้นได้ แนะขอให้ต่อยอดระยะกลาง-ยาว หวั่นเป็นเบี้ยหัวแตกเหมือนไทยเข้มแข็ง-มิยาซาวา

หลังการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จบลง ในกลุ่มประชาชนผู้ประกอบอาชีพอิสระ 16 ล้านคน เป็นเงิน 2.4 แสนล้านบาท เกษตรกร 10 ล้านรายเป็นเงิน 1.5 แสนล้านบาท และกลุ่มเปราะบางอีก 9 ล้านรายเป็นเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท

จากนี้ไปจะเป็นการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากการที่ประเมินว่า เศรษฐกิจปี 63 จะทรุดหนักติดลบ 6-7% ซึ่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นรัฐบาลแรกที่มีวงเงินที่จะใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสูงถึง 1.59 ล้านล้านบาท โดยจะเป็นเงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือจากก้อนเยียวยา 1.33 แสนล้านบาทและเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 4 แสนล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีเงินจากงบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ เพราะจากต้นปีงบประมาณจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแล้ว 2.26 ล้านล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 70.61% ทำให้มีงบลงทุนคงเหลือ 2.35 แสนล้านบาท และเงินจากพระราชบัญญัติโอนงบประมาณปี 63 อีก 8.85 หมื่นล้านบาท และช่วงปลายปีนี้ จะมีงบลงทุนงบประมาณปี 2564 เข้ามาสมทบอีก 6.96 แสนล้านบาทและการโอนงบประมาณปี 64 อีก 4.03 หมื่นล้านบาทที่ถูกโยกเข้ามาอยู่ในงบกลางเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด

ทำให้การใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลถูกจับตามอง เพราะแค่เพียงปิดรับโครงการที่ยื่นขอใช้เงินในกรอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาทรอบแรกเมื่อ 5 มิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า แค่เพียง 2 กรอบก็มีโครงการยื่นเข้ามาแล้ว 5.92 แสนล้านบาท โดยเป็นโครงการในกรอบลงทุนด้านการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น การลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าด้านการเกษตรหรือ การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ รวม 2.2 แสนล้านบาท และเม็ดเงินลงทุนด้านเศรษฐกิจฐานราก 3.72 แสนล้านบาท

สศช.วอนร่วมตรวจสอบ

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาโครงการที่ยื่นมารอบแรก ระหว่างนี้ 8-15 มิถุนายน สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปตรวจสอบโครงการในเว็ปไซต์ของสศช. เพื่อให้ข้อเสนอแนะในรายละเอียดโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคณะกรรมการตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและนำความคิดเห็นจากประชาชนมาเขียนโครงการฉบับเต็ม เสนอต่อคณะทำงานวิเคราะห์โครงการ เพื่อคัดเลือกโครงการเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง และคณะกรรมการกลั่มกรองก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ภายใน 2-7 กรกฎาคม 2563 

ส่วนโครงการที่ไม่ได้คัดเลือกจะส่งกลับพื้นที่ให้พิจารณาปรับปรุงแล้วส่งกลับมาภายในวันที่ 9 กรกฎาคม เพื่อเสนอให้ครม.พิจารณาในรอบ 2 ภายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2563

นายทศพร ศิิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า คาดว่า ครม.จะอนุมัติโครงการรอบแรกภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว ซึ่งการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อจะได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า เป็นโครงการที่ใช่และตรงกับความต้องการของพื้นที่หรือไม่ และยังมีความโปร่งใสของการใช้เงินงบประมาณด้วย

 

อัด1.6ล้านล้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หวังประคองจีดีพีไม่ดิ่งเหว

ไทม์ไลน์เงินกู้ฟื้นศก.

การใช้เงินกู้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเศรษฐกิจตกตํ่า เกิดการเลิกจ้าง ประชาชนขาดกำลังซื้อ ทำให้ภาครัฐต้องมาเป็นผู้จับจ่ายและลงทุนเอง เพื่อให้เกิดจุดเริ่มต้นของการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีงบประมาณจำกัด ก็ต้องใช้ช่องทางพิเศษคือ กู้เงิน โดยช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เศรษฐกิจติดลบ 2.8% และติดลบหนักถึง 7.6% ในปี 2541 รัฐบาลนายชวน หลักภัย จึงได้จัดทำโครงการ มิยาซาวาด้วยการกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น 53,000 ล้านบาทในปี 2542 เป็นโครงการระยะสั้น 6 เดือน เจตนาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้จ้างแรงงานประชาชน เลียนแบบ “โครงการเงินผัน” ปี 2518 ในรัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่โครงการถูกโจมตีว่า ใช้เงินจำนวนมากไปกับงานที่ไม่สร้างคุณค่า เหมือนตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า และยังพบการทุจริตจำนวนมากอีกด้วย แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจในปี 2542 ขยายตัวได้ที่ 4.6%

เงินกู้ก้อนใหญ่ถัดมาคือ โครงการไทยเข้มแข็ง หลังไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจปี 2552 ติดลบ 0.7% รัฐบาลจึงได้ออกพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนในโครงการเร่งด่วน ผ่าน 4 กระทรวงหลักสำคัญคือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นโครการถนนไร้ฝุ่น ชลประทานขนาดเล็ก การจัดซื้ออุกรณ์แพทย์และอุปกรณ์การศึกษา ซึ่งถูกมองว่าเป็นเบี้ยหัวแตกและพบการทุจริตใน 2 กระทรวงหลักคือ สาธารณสุขและศึกษาธิการ จากการจัดซื้ออุกรณ์ที่ไม่จำเป็นและสูงเกินไป แต่ก็ทำให้เศรษบกิจปี 2553 ขยายตัวได้ 7.5%

 

TDRIเชื่อเอาอยู่ 

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้บ้าง เพราะจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบ แต่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวกลับมาเป็นบวกได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับการใช้เงินในแต่ละโครงการว่า สามารถต่อยอดทั้งระบบให้เกิดการจ้างงาน การใช้จ่าย และการลงทุนต่อเนื่องไปยังระยะกลางและยาวหรือไม่ เพราะหากสามารถต่อยอดได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น

“มองว่า โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท จะต่างจากโครงการในอดีตทั้งโครงการ ไทยเข้มแข็ง และโครงการมิยาซาวา เพราะโครงการฟื้นฟูฯนั้นมีท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอโครงการมากขึ้นแต่อาจเป็นเบี้ยหัวแตกเหมือนโครงการที่ผ่านมาได้เช่นกัน หากภาครัฐไม่เอาจริงเอาจังในการคัดเลือกโครงการและท้องถิ่นไม่ต่อยอดโครงการให้เกิดผลในระยะกลางและยาว เม็ดเงินที่ลงสู่ระบบจะหายไปแบบที่ผ่านมาได้”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ.2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เงินกู้ 4 แสนล้าน ความจำเป็น ใช้ฟื้นฟูศก.

เอกซเรย์เงินกู้ 4 แสนล้าน

รุมทึ้ง "เงินกู้" ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยอดทะลุ 8.4 แสนล้าน