“กรมวิชาการเกษตร” สั่งตามล่า “หญ้าแม่มด” พ้นไทย

06 มิ.ย. 2563 | 07:27 น.

กรมวิชาการเกษตร ตื่น เร่งผนึก “สมาคมวิทยาการวัชพืชฯ” กำจัด “หญ้าแม่แม่มด” วัชพืชกีดกันที่ทุกประเทศรังเกียจ หวั่นซ้ำรอยส่งออกข้าว 7 ปีก่อน ด้าน “ชัยฤกษ์” ชี้เรื่องใหญ่มาก กังขา โผล่เข้ามาในเมืองไทยอย่างไร

จากการที่ “ฐานเศรษฐกิจ” แกะรอย “หญ้าแม่มด” ที่กลับมาฮือฮาใหม่ในยุคโควิด-19 กลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ รับซื้อกิโลกรัมละ 300 บาท ชาวบ้านแตกตื่น พยายามกว้านหาเพื่อที่จะนำมาขายเพื่อส่งออกไปประเทศจีน ผลิตเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางขาย นั้น

“กรมวิชาการเกษตร” สั่งตามล่า “หญ้าแม่มด” พ้นไทย

ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง “หญ้าแม่มด” เป็นพืชต้องห้าม เป็นวัชพืชร้ายแรง ความจริงแล้วตัวนี้ เป็นวัชพืชกักกัน ต้องทำลาย ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าในบัญชีของไทยยังมีอยู่หรือไม่ ต้องถามฝ่ายด่านกักกันพืช กรมวิชาการเกษตร ซึ่งถ้าหากไม่เคยมีในเมืองไทย ก็แปลว่าถูกลักลอบนำเข้ามา หรือติดอะไรเข้ามาแล้วผ่านด่านกักกันมาไม่พบ ก็เลยเข้ามาตั้งตัวในเมืองไทย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ทางออก ต้องกำจัดอย่างเดียว

ดร.จรรยา  มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เผยว่า หญ้าแม่มด เป็นวัชพืชกักกัน (quarantine weed) ที่ทุกประเทศรังเกียจ และใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้าอยากรู้ว่าทำไมทั่วโลกรังเกียจและกลัวหญ้าแม่มด ไม่อยากให้ติดไปกับสินค้าเกษตร  “หญ้าแม่มดตัวนี้” เป็นสายพันธุ์ใหม่ คือ Striga angustifolia ดอกสีขาว ระบาดในไร่อ้อย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวฟ่างหางหมา ที่จ. นครสวรรค์ จากเดิมที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้เป็นพันธุ์  Striga asiatica ดอกสีเหลือง ระบาดในข้าวโพด ข้าวฟ่าง เมื่อปี2517ที่ จ. อุบลราชธานี  พื้นที่ เกือบ 5หมื่นไร่

 “วงจรชีวิตหญ้าแม่มด” เป็นวัชพืชใบกว้างฤดูเดียว มีอายุ 19-120 วัน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีลำต้นตั้งตรง มีขนสีขาวปกคลุมทั่วลำต้น ขนาดความสูงประมาณ 15-40 เซนติเมตร มีดอกเดี่ยว สีขาว ออกดอกตามซอกใบ ฝักมีสีน้ำตาลแก่ 1 ฝัก มีเมล็ดเฉลี่ย 736 เมล็ด หรือ " 1 ต้น สร้างเมล็ดได้ถึงมากถึง 200,000 เมล็ด เมล็ดมีชีวิตในดินได้นาน 15-20 ปี"

หลังงอกหญ้าแม่มดจะแทงรากเข้าไปในรากอ้อยเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ต้นอ้อยแคระแกรน หรือแห้งตาย พบหญ้าแม่มดในสภาพดินทรายหรือดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี ซึ่งเคยมีการระบาดรุนแรงเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ในแปลงอ้อยตอ และอ้อยปลูกใหม่ ใน อ.เมือง อ.พยุหะคีรี และ อ.ตากฟ้า จังหวัดนคสวรรค์ เสียหายกว่า 1 พันไร่ ได้ทำความเสียหายให้กับพืชหลายชนิด เช่น อ้อย ข้าวฟ่าง ข้าวโพดและข้าว วัชพืชที่เป็นพืชอาศัย ได้แก่ หญ้าพง หญ้าแพรก หญ้าตีนติด หญ้าปากควาย หญ้าขจรจบดอกเล็ก ซึ่งไทยเคยมีปัญหาในเรื่องการส่งออกข้าวเมื่อ 7 ปีที่แล้ว หรือ ประมาณปี2556 และกรมวิชาการเกษตร ได้ประกาศวัชพืชชนิดนี้เป็นศัตรูพืชกักกัน ซึ่งเป็นวัชพืชที่ไม่ควรพบอยู่ในประเทศไทย

“กรมวิชาการเกษตร” สั่งตามล่า “หญ้าแม่มด” พ้นไทย

ล่าสุด ร่วมประชุมหารือระหว่างนักวิจัยวัชพืชและนักวิจัยกักกันพืชชองกรมวิชาการเกษตร เพื่อวางมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของหญ้าแม่มดในแหล่งผลิตพืชสำคัญของประเทศไทย เตรียมประกาศออกล่า ว่าใครพบ “หญ้าแม่มด” จะต้องทำลายทิ้งทันที ใครมีไว้ครอบครองถือว่าผิดกฎหมาย

ขณะที่นายเจริญ  เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จำไม่ได้ว่า "หญ้าแม่มด"  เคยมีปัญหากับการส่งออกข้าวเมื่อปี 2556 แต่คิดว่าในปัจจุบันนี้ไม่น่าจะมีปัญหาเนื่องจากไทยมีเทคโนโลยีเครื่องสีข้าว ที่ก้าวล้ำไปไกลแล้ว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์ว่อนเน็ต “หญ้าแม่มด” รับซื้อ กิโลกรัมละ 300 บาท