‘แกรนด์สปอร์ต’  เบรกลงทุนตปท. ยึดไทยเป็นฐานที่มั่น 

11 มิ.ย. 2563 | 09:40 น.

แกรนด์สปอร์ต” ชี้วิกฤติโควิด-19 กระทบหนัก ปรับวิชันเบรกการลงทุนในอาเซียนและเอเชีย เบนเข็มโฟกัสตลาดในประเทศ เพิ่มสปีดออนไลน์ จัดระบบตัวแทนจำหน่าย หวังกระตุ้นยอดขายครึ่งปีหลัง

ชื่อของ “แกรนด์ สปอร์ต” ถือเป็นแบรนด์กีฬาสัญชาติไทยแท้ที่มาแรงพร้อมทะยานสู่ตลาดเอเชียแต่ มาวันนี้ วิกฤติโควิด-19 กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามาดิสรัปต์วงการกีฬาที่กำลังสดใสให้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องเร่งปรับวิชัน ปรับแผนเพื่อรับมือ เพื่อพยุงให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

นายธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้า ชุดกีฬา และอุปกรณ์กีฬา “แกรนด์สปอร์ต” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ด้วยวิชัน 5-10 ปี ในการก้าวสู่ความเป็นอินเตอร์แบรนด์ ด้วยการขยายตลาดไปยังภูมิภาคอาเซียนและเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนใน เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์นั้น เบื้องต้นบริษัทได้ปรับวิชันใหม่ โดยจะมีการหยุดการลงทุนใน สปป.ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนด ซึ่งจะยังเหลือแค่การลงทุนเวียดนามประเทศเดียวเท่านั้น เนื่องจากมีศักยภาพและกำลังพัฒนาเรื่องกีฬา โดยจะหันมาโฟกัสฐานลูกค้าในประเทศให้มีความเข็มแข็งเพื่อฝ่าฟันวิกฤตินี้โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายให้ติดลบในช่วงที่ผ่านมาไปก่อน

‘แกรนด์สปอร์ต’   เบรกลงทุนตปท. ยึดไทยเป็นฐานที่มั่น 

“ในวิกฤติเช่นนี้ต้องมองย้อนกลับมาว่าอะไรประหยัดได้ก็ต้องประหยัด ซึ่งในส่วนของแกรนด์สปอร์ตมองว่ายอดขายปลายปีน่าจะดีกว่าต้นปีเช่นเดียวกับตลาด โรงงานปิด ผลิตจำนวนเท่าที่ลูกค้าสั่ง ลดแบบการผลิตลงเนื่องจากการเข้ามาของวิกฤติโควิด-19 ส่งกระทบโดยตรงต่อวงการกีฬาโดยเฉพาะกีฬาอาชีพ มหกรรมกีฬานานาชาติต่างๆ” 

ทั้งนี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาการขายของบริษัทได้รับผลกระทบมากที่สุด และมียอดขายติดลบในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ เนื่องจากการขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกีฬาขึ้นอยู่กับอีเวนต์และการจัดมหกรรมกีฬามาเป็นอันดับแรกที่จะกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้า เพราะหากไม่มีอีเวนต์กีฬาลูกค้าก็ไม่สั่งซื้อ ดังนั้นริษัทจึงจำเป็นต้องมีการปรับแผนงานพร้อมทั้งมองหาช่องทางและโอกาสทางการเติบโต โดยมองหาว่าช่องทางไหนที่ยังสามารถขายสินค้าและสร้างการเข้าถึงได้ก็หันมาโฟกัสตรงนั้นให้มากที่สุด เพื่อสร้างรายได้

โดยในกลุ่มค้าปลีกกีฬาและช่องทางออนไลน์ยังสามารถสร้างการขายได้ ทำให้บริษัทเข้าไปจำหน่ายในออนไลน์ผ่านเพจหลักและการไลฟ์สดขายสินค้ามากขึ้นเพื่อให้ลูกค้ายังจดจำแบรนด์ สร้างการเข้าถึง พร้อมทั้งสร้างยอดขายให้พนักงานสามารถอยู่ได้ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีมีการเติบโตมากกว่า 100% ซึ่งกลุ่มสินค้าขายดีคือ เสื้อออกกำลังกาย มียอดขายตั้งแต่ 1,000-3,000 บาทต่อบิล ทำให้บริษัทมีการเตรียมความพร้อมในการวางระบบการการขายในช่องทางดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการ จัดซื้อระบบ CF Manager เพื่อนำมาใช้ในการขายสินค้าและรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

พร้อมกันนี้ยังมีแผนขยายไปยังระบบตัวแทนจำหน่ายที่ให้ตัวแทนสามารถไลฟ์สดขายสินค้าได้โดยไม่ต้องสต๊อกสินค้า หลังจากมีการนำร่องระบบไม่ต้องสต๊อกสินค้ามาราว 5 ปี และทางแบรนด์จะจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าโดยตรง ซึ่งบริษัทจะวางตัวเป็นฮับ HUB ในการกระจายสินค้า หรือจุด TAKE ORDER ที่ลูกค้าสั่งซื้อผ่านตัวแทนต่างๆ นอกจากนี้ยังมองหามองหาธุรกิจใหม่ แต่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐาน (Basic Normal) อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต,อาหารและเครื่องดื่ม สร้างการเติบโต

ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม

“เราพยายามสร้างจุดเด่นให้กับการขายในช่องทางออนไลน์ ทั้งราคา การเข้าถึง และระบบการจัดส่งที่ต้องไม่เกิน 3 วันเพื่อให้ถึงมือลูกค้า ซึ่งแน่นอนว่าแบรนด์ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้บริษัทต้องเข้ารุกธุรกิจในช่องทางออนไลน์เร็วขึ้น เชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้ทันต่อสถาน การณ์จากเดิมที่เป็นเพียงการวางระบบทดลองไปเรื่อยๆและยังไม่มีกำหนดวาระการใช้งานอย่างจริงจัง”

ขณะที่การขยายสาขาจะน้อยลงและปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร เช่น สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ และหันมาโฟกัสออนไลน์มากยิ่งขึ้น และเหลือเพียงปทุมวัน หัวหมาก นวมินทร์ เป็นจุดขายหลัก ขณะที่ช็อปสาขาที่ต่างจังหวัดหรือดีลเลอร์ก็ยังเปิดอยู่ แต่การล็อกดาวน์ไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดและขนส่งได้ ถือเป็นช่วงประคองตัวเองเพื่อให้อยู่รอดในภาวะดังกล่าว

นอกจากนี้บริษัทยังมีการปรับสินค้ามาจำหน่ายในราคา 100-200 บาท ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสื้อผ้าพื้นฐานที่สามารถใช้ในบ้านได้ เสื้อกีฬา เพื่อรองรับกำลังซื้อและภาวะเศรษฐ กิจที่ชะลอตัวในช่วงนี้ ขณะที่แผนงานในอนาคตบริษัทจำเป็นต้องตั้งสติและเตรียมพร้อมเพราะจากสถานการณ์ปัจจุบันทุกอย่างสามารถเปลี่ยน แปลงได้ทุกวินาที ซึ่งไม่สามารถวางแผนระยะยาวได้

‘แกรนด์สปอร์ต’   เบรกลงทุนตปท. ยึดไทยเป็นฐานที่มั่น 

อย่างไรก็ตามประเมินว่าสิ้นปีนี้เม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาทในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกีฬาจะหายไป ซึ่งยากจะประเมินเนื่องจากมีตลาดล่างอยู่จำนวนมาก ขณะที่ภาพรวมการเติบโตในอุตสาห กรรมเชื่อว่าในช่วงสิ้นปีนี้โอกาสทางการเติบโตน่าจะดีกว่าต้นปี จากการคลายล็อกมาตรการต่างๆและสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย โดยบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้เช่นเดียวกับภาพรวมอุตสาหกรรม โดยแนวโน้มตลาดรวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกีฬา เม็ดเงินสะพัดกว่า 3 หมื่นล้านบาท และในช่วงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดมีการประคองตัวมาโดยตลอด จากปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และสินค้าหิ้วจากต่างประเทศ

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,581 วันที่ 7 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563