"ชาญศิลป์" มือฟื้น 'ไออาร์พีซี' สู่ทีมฟื้นฟู"การบินไทย"

04 มิ.ย. 2563 | 14:28 น.

เปิดเส้นทาง"ชาญศิลป์ ตรีนุชกร" อดีตซีอีโอปตท. มือพลิกฟื้น "ไออาร์พีซี" สู่ทีมฟื้นฟู "การบินไทย"

    หลังจาก "ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" หนึ่งในหัวหอกที่ถูกวางตัวให้ร่วมทีมทำแผนฟื้นฟู "การบินไทย" ต้องลาออกจากบอร์ดการบินไทยไป หลังแต่งตั้งมาได้เพียง1วัน
     ด้วยประเด็นจากข้อกฎหมายของทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ห้ามรับตำแหน่งภายใน 2 ปี หลังพ้นจากตำแหน่งรมช.คมนาคม และเคยกำกับดูแลการบินไทย

"ชาญศิลป์" มือฟื้น 'ไออาร์พีซี' สู่ทีมฟื้นฟู"การบินไทย"
    ล่าสุดบอร์ดการบินไทย มีมติแต่งตั้ง"ชาญศิลป์ ตรีนุชกร" อดีตซีอีโอปตท. คนที่ 9 ซึ่งหมดวาระเกษียณอายุครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2563 มานั่งเก้าอี้กรรมการและกรรมการอิสระของการบินไทย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่4มิถุนายน2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ตั้ง “ชาญศิลป์” นั่งบอร์ด "การบินไทย"
                       :  "บรรยง" แนะ 4 เรื่องใหญ่ ถอดรหัส ฟื้นฟู "การบินไทย" 
                       : “การบินไทย” แจงตั้งอีวายฯ-บอร์ด5คนทำแผนฟื้นฟู

        "ชาญศิลป์" เข้ามาในโควต้าที่ "ไพรินทร์"เสนอ โดยอ้างถึงประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการบริษัท ไออาร์พีซี ในปี 2552 จนเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ไออาร์พีซี
      โดย "ชาญศิลป์"จะเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมผู้ทำแผนฟื้นฟู "การบินไทย" ร่วมกับพล.อ.อ. ช้พฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการของบริษัทฯ และบริษัทอีวาย 

      เส้นทางอันเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ"ชาญศิลป์" ต้องย้อนไปยุคที่ผู้บริหาร ปตท.มอบหมายให้เขาเข้าไปร่วมทีมฟื้นฟู บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) หรือ IRPC เป็นระยะเวลา 5 ปี ทำให้ IRPC กลายเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งมาจนถึงปัจจุบัน 
     จากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ซึ่งเป็น
กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี คลังน้ำมัน โรงไฟฟ้า ปูนซีเมนต์ และท่าเทียบเรือน้ำลึกในจังหวัดระยอง มีมูลค่าทรัพย์กว่า 130,000 ล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 8,000 คน 
    ทั้งยังเป็นบริษัทเอกชนที่ถือครอบที่ดินมากที่สุด ติดอันดับ1 ใน 3 ของไทย จัดเป็น บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ที่เคยรุ่งเรืองเป็นอันดับต้นๆของประเทศ
แต่แล้ววิกฤติดังกล่าว ก็ทำ TPI ประสบภาวะล้มละลาย
   ในช่วงเวลานั้น บริษัท ปตท.ฯได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเข้าดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) หรือ IRPC มาจนถึงปัจจุบัน
    ตอนนั้นช่วงปี 2552 ชาญศิลป์ ถูกส่งเข้าไปนั่งในตำแหน่งผู้ช่วยสายงานแผนกลยุทธ์องค์กร ทำให้จากเดิมมีประสบการณ์ด้านการขายน้ำมัน ต้องมาเรียนรู้การจัดทำแผนด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีใหม่ทั้งหมด รวมถึงแก้ไขปัญหาสะสมของ TPI ทั้งด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การต่อรองกับสหภาพแรงงานของบริษัท 8 สหภาพที่มีความเข้มแข็ง ความขัดแย้งในบอร์ดผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียนับไม่ถ้วน
    โดยเริ่มฟื้นฟู ภายใต้ โครงการ Iceberg  คือ สะสางปัญหา เพื่อทำให้องค์กรกลับมาสร้างกำไร ตัดลดรายจ่ายไม่จำเป็น ขายหุ้นที่ไม่มีศักยภาพในการทำกำไร และเจรจากับคู่กรณีในคดีความต่างๆเพื่อขจัดความขัดแย้งระหว่างกัน
    จนบริษัทสามารถสร้างกำไรคืนกลับมาได้มาก จากนั้นเมื่อปี 2554 ชาญศิลป์ จึงเลื่อนสู่ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจท่าเรือและบริหารจัดการทรัพย์สิน รวมถึงตำแหน่งรักษาการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายแผนธุรกิจองค์กร IRPC เพื่อเคลียร์ปัญหาความขัดแย้งด้านที่ดินต่างๆจนสำเร็จ 
    นอกจากนี้ ตลอดเวลาของการปลุกปั้น IRPC ยังต้องเผชิญกับการฟ้องร้องคดีความต่างๆระหว่างเจ้าของผู้ถือหุ้นเดิมของ TPI กับทีมผู้บริหารที่เข้าไปฟื้นฟูกิจการ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารของ ปตท. มากถึง 93 คดี จนเป็นที่มาของการจัดทำโครงการปลดพันธนาการจากคดีความ (Freedom) ภายใต้ตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชยกิจและการตลาด ของนายชาญศิลป์ 
     เรียกว่า สร้างความประหลาดใจให้กับคนในแวดวงธุรกิจ เมื่อนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อยุติข้อพิพาท(MOU) ระหว่างเจ้าของ TPI เดิม กับกลุ่ม IRPC และมีการชำระเงินระหว่างกันจนเสร็จ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2557 และในปี 2557 ยัง สามารถปิดหรือขายหุ้นที่ไม่ได้ดำเนินกิจการ 13 บริษัท จาก 36 บริษัท ที่ถือครองหุ้นและหลักทรัพย์ต่างๆ เหลือเพียง 6 บริษัทที่เป็น core value ขององค์กร
    ความสำเร็จจากดีลประวัติศาสตร์นี้ ส่งผลให้ชาญศิลป์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ซีอีโอ ปตท. 
    โดยเขามีคติในการทำงานที่ว่า “ผมไม่ใช่ซูเปอร์แมน ผมทำงานเป็นทีม เพราะการทำงานเป็นทีมทำให้เราทุกคนประสบความสำเร็จมากกว่า” 
    ประสบการณ์ที่ก็คงต้องติดตามว่าจะนำพาที่จะทำให้การฟื้นฟูการบินไทยในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเหมือนไออาร์พีซีในอดีตหรือไม่